บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน (IPO) เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 194,444,000 หุ้น พร้อมแต่งตั้ง บล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์
วัตถุประสงค์ของการระดมทุนเพื่อขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรี ปรับปรุงประสิทธิภาพในกลุ่มบริษัทฯ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ชูจุดแข็งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย ด้านผู้บริหารกำหนดวิสัยทัศน์มุ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบัน BGC มีทุนจดทะเบียน 3,472.22 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 694,444,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 500,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ BGC กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินรองรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯ โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะนำ BGC ก้าวสู่ความเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน
BGC มีความสามารถผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วที่หลากหลาย โดยปัจจุบันแบ่งบรรจุภัณฑ์แก้วที่ผลิตออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ ขวดเบียร์ ขวดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ ขวดอาหาร ขวดยาและยาฆ่าแมลง และขวดผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มที่ให้พลังงาน สุรา ฯลฯ นอกจากนี้ BGC ยังนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้วบางประเภทที่บริษัทฯ ไม่ได้ผลิต และ/หรือมีกำลังผลิตไม่เพียงพอ อาทิ ขวดยา ขวดยาฆ่าแมลง ขวดไวน์ ฯลฯ เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
กลุ่มบริษัทมีจุดแข็งที่เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย (อ้างอิงจากรายงานของ GlobalData Plc ณ 2 ก.พ.2561) โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.61 BGC มีบริษัทย่อยที่ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว 6 บริษัท มีเตาหลอมแก้วรวมทั้งสิ้น 10 เตา กำลังการผลิตรวม 3,095 ตันต่อวัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและเตาหลอมแก้วที่จังหวัดราชบุรีอีก 1 เตา คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้ ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน
ขณะเดียวกัน โรงงานผลิตของบริษัทมีการออกแบบให้สามารถรองรับการผลิตสินค้าในปริมาณมากเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำและมีความยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนสายการผลิต รวมถึงโรงงานกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น จังหวัดปทุมธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอยุธยา จังหวัดปราจีนบุรี และโรงงานแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่จังหวัดราชบุรี เพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้าได้ทั่วทุกภาคของประเทศและการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ การบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้จำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วเพียงรายเดียวให้แก่กลุ่มบุญรอด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์และโซดา รายใหญ่ของประเทศไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อว่าภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกลุ่มลูกค้าอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีข้อจำกัดในการเข้าแข่งขันสูง (High barrier to entry) เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก