โบรกฯเชียร์"ซื้อ"BEM เล็งกำไร Q2/61 ทำสถิติสูงสุดใหม่ จากบันทึกกำไรขายหุ้นโรงไฟฟ้าไซยะบุรี-ประหยัดดบ.จ่าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 17, 2018 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ต่างเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/61 ทำจุดสูงสุดใหม่ หลังบันทึกกำไรขายหุ้น"ไซยะบุรี"และประหยัดดอกเบี้ยจากการรีไฟแนนซ์เงินกู้โครงการทางด่วนศรีรัชฯ อีกทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้ายังเติบโตแข็งแกร่งตามจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น

บริษัทยังมีโอกาสเข้าประมูลงานทางด่วนและรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ได้แก่ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี, ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง, รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ส่วนสายสีส้มคาดประมูลในปี 62 รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

อย่างไรก็ตาม ทั้งปีกำไรสุทธิน่าจะเติบโตดีกว่าปีก่อนจากทั้งธุรกิจทางด่วนและธุรกิจรถไฟฟ้าที่เติบโต และการปรับขึ้นค่าโดยสาร รวมถึงการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเร็วกว่ากำหนด

ล่าสุดเมื่อเวลา 14.44 น.หุ้น BEM อยู่ที่ 7.85 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

          โบรกเกอร์                 คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          หยวนต้า (ประเทศไทย)         ซื้อ                     10.10
          ฟินันเซีย ไซรัส                ซื้อ                     10.00
          เอเอสแอล                   ซื้อ                     9.80
          ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)  ซื้อ                     9.00
          เคที ซีมิโก้                   ซื้อ                     8.70
          ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย)   ซื้อ                     8.60

นายเบญจพล สุทธิ์วนิช นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.เอเอสแอล คาดว่า BEM จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้เฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจทางด่วนมีปริมาณรถเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 27.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ธุรกิจรถไฟฟ้ามีจำนวนผู้ใช้บริการ 2.96 แสนคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 7.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัทยังมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงจากการรีไฟแนนซ์ในช่วงไตรมาสแรก ทำให้ประหยัดต้นทุนทางการเงินลงปีละ 100 ล้านบาท และการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นโรงไฟฟ้าไซยะบุรี จำนวน 240 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2/61 จะเติบโตเป็น High record

สำหรับทั้งปีนี้ บล.เอเอสแอล ยังคงประมาณการกำไรปกติปี 61 ไว้ที่ 3.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากปีก่อน จากธุรกิจทางด่วนและธุรกิจรถไฟฟ้าที่มีการเติบโต และมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดในอนาคตตามโครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าตามแผน รวมไปถึงโอกาสในการขยายเส้นทางเพิ่มตามแผนการลงทุนของภาครัฐฯ

ด้าน น.ส.จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า กำไรสุทธิไตรมาส 2/61 คาดว่าจะเติบโตแตะ 1 พันล้านบาทเป็นไตรมาสแรก ทำสถิติสูงสุด จากการบันทึกกำไรการขายหุ้นโรงไฟฟ้าไซยะบุรีให้ CKP ราว 242 ล้านบาท และยังได้รับประโยชน์จากการรีไฟแนนซ์เงินกู้โครงการทางด่วนศรีรัชฯในไตรมาส 1/61 คาดจะสามารถประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ราว 25 ล้านบาทต่อไตรมาส

ขณะที่หากไม่ได้นับรวมรายการพิเศษที่เกิดขึ้น คาดว่ากำไรปกติจะอยู่ที่ 788 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตของธุรกิจทางด่วนราว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, ธุรกิจรถไฟฟ้าโต 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจป้ายโฆษณาที่เติบโต 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการเติบโตในปี 61 ยังคงประมาณการกำไรสุทธิเติบโต 19% จากปีก่อน จากจำนวนผู้ใช้รถบนทางด่วน และจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั้งปี 8.8-9% ทุกธุรกิจ ประกอบกับการปรับขึ้นค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็น 25.60 บาท จากเดิม 25.30 บาท ซึ่งจะดำเนินการปรับขึ้นได้ในเดือน ต.ค.นี้ รวมถึงการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเร็วกว่ากำหนด 1-3 เดือน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้จำนวนผู้โดยสารขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโอกาสจากการเปิดประมูลทางด่วน 3 สาย และรถไฟฟ้าอีก 1 เส้นทางที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ เช่น มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดขายซองไตรมาส 3/61, ทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง คาดขายซองภายในปีนี้, รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ คาดประมูลในไตรมาส 4/61 และสายสีส้ม คาดประมูลในครึ่งปีแรกของปี 62 ล่าสุด BEM เข้าซื้อซองรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2 แสนล้านบาท คาดว่าจะจับมือกับบริษัทแม่ CK เข้าประมูลในวันที่ 12 พ.ย.นี้

"เรายังคงแนะนำซื้อ จากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯที่ยังมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยมองครึ่งปีหลังนี้ก็น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงของฤดูกาลที่จะมีเทศกาลสำคัญๆค่อนข้างมาก ทำให้มีการใช้รถบนทางด่วน หรือโดยสารรถไฟฟ้ากันมากขึ้น ส่งผลดีต่อตัวรายได้และกำไรสุทธิเติบโตดีกว่าปีก่อน" น.ส.จิตรา กล่าว

ส่วน บล.เคที ซีมิโก้ ระบุในบทวิเคราะห์คาดกำไรสุทธิในไตรมาส 2/61 ของ BEM จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากปริมาณรถผ่านทางและปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 1.4% และ 5.9% ตามลำดับในครึ่งปีแรก ขณะเดียวกันยังมีแนวโน้มเชิงบวกต่อประมาณการในระยะยาว จากการที่ BEM จะเริ่มให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเร็วกว่ากำหนดเล็กน้อย รวมถึงร่วมเข้าประมูลรถไฟความเร็วสูง

สำหรับ บล.หยวนต้า คาดกำไรสุทธิ BEM ในไตรมาส 2/61 จะทำระดับสูงสุดใหม่รายไตรมาสที่ 1 พันล้านบาท จากการรับรู้กำไรพิเศษการขายเงินลงทุนในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด มูลค่า 302 ล้านบาท และหากตัดรายการดังกล่าว คาดว่าบริษัทฯ จะทำกำไรปกติที่ 788 ล้านบาท เติบโต 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจะมาจากรายได้ธุรกิจระบบรางที่ 1.2 พันล้านบาท เป็นไปตามจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย (Ridership) รายวันที่คาดเพิ่มขึ้น 5.5% เป็น 3 แสนเที่ยว/วัน, รายได้ธุรกิจทางด่วนที่ 2.5 พันล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย จากผู้ใช้บริการทางด่วนเฉลี่ยทุกเส้นทางโต 1% เป็น 1.2 ล้านเที่ยว/วัน, ดอกเบี้ยจ่ายลดลง 19% เป็น 306 ล้านบาท จากการรีไฟแนนซ์เงินกู้ยืมระยะยาว เป็นหุ้นกู้มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท สนับสนุนให้มีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังมีโอกาสจากการเข้าประมูลโครงการภาครัฐ ทั้งธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้า คาดว่าจะเกิดขึ้นในตรึ่งปีหลังนี้ ทั้งงานมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 1.3 หมื่นล้านบาท เปิดประมูลในไตรมาส 3/61, งานทางด่วนพระราม 3 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เปิดประมูลในไตรมาส 4/61 และงานรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายวงเงิน 1 แสนล้านบาท เปิดประมูลในไตรมาส 4/61 ซึ่งเชื่อว่า BEM มีโอกาสที่ชนะประมูลส่วนงานบริหารเดินรถ เนื่องจาก BEM เป็นผู้บริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงและมีประสบการณ์ยาวนานในธุรกิจทางด่วน โครงการเหล่านี้

อีกทั้งการประมูลโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าสูง 2.2 แสนล้านบาท คาดสรุปภายในไตรมาส 4/61 โดยมีบริษัทเอกชนกว่า 31 รายเข้าซื้อซองประมูลครั้งนี้ รวมถึง BEM และ CK ซึ่ง รฟท.จะเปิดรับซองข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย.61 และเปิดซองในวันที่ 13 พ.ย. 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ