นายราจีฟ บาวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร และพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า บริษัทได้เข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เมื่อช่วงเช้านี้ เพื่อต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 900 MHz
เนื่องจาก DTAC ประเมินว่าค่าใช้จ่ายการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ระหว่างคลื่นที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และที่บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ใช้อยู่ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าส่วนลดที่ กสทช.ให้นำไปหักจากราคาประมูลเริ่มต้น
นอกจากนี้ คลื่นความถี่ที่กันไว้ให้ใช้กับระบบกิจการรถไฟความเร็วสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังไม่รู้ว่าใช้ระบบใด ซึ่งเป็นเรื่องยากในการปฏิบัติ
"การประมูลคลื่นความถี่ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคลื่นความถี่ต่ำย่าน 900 MHz ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศโดยเฉพาะนอกพื้นที่เขตเมือง ขณะนี้ DTAC จึงต้องปรึกษาร่วมกับกสทช. เพื่อให้มั่นใจว่าการประมูลคลื่นความถี่จะสร้างประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับทั้งรัฐและลูกค้า"
ดังนั้น บริษัทรอให้ กสทช.จะทำอย่างไรที่จะลดความเสี่ยงในการเข้าประมูล ซึ่งในวันนี้ กสทช.จะออกประกาศสำนักงาน ฯ เพิ่มเติม หลังจากที่ร่างประมูลคลื่นความถี่ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว
"เรื่องการตัดสินใจประมูลคลื่น 1800 MHz พิจารณาไม่ยาก แต่ในส่วน 900 MHz รอความชัดเจนจาก กสทช. ...ถ้าซื้อคลื่นนี้คุณยอมรับความเสี่ยง ค่าใช้จ่ายไม่รู้เท่าไร และไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้รถไฟ ใช้ระบบอะไร และถึงรู้ว่าทรูกับเอไอเอส ใช้ระบบอะไรแต่ก็เข้าเขตของเขาไม่ได้ แต่ กสทช.มองว่าไม่ต้องห่วง ทุกอย่างอยุ่ภายใต้การกำกับของ กสทช.ซึ่งเป็นคำที่กว้างมาก"นายบาวา กล่าว
อย่างไรก็ตาม DTAC ได้มีข้อตกลงโรมมิ่งระบบ 2G กับ ADVANC ไว้แล้ว