นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กฟผ. และ EGCO ตรวจสอบข่าวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท Mitsubishi Hitachi Power Systems (MHPS) ประเทศญี่ปุ่น จ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อแลกกับการชนะประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 56 ซึ่งตามข่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 ของ EGCO ในปี 56-57 ซึ่งหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รับสินบนจริง ก็จะลงโทษตามกฏระเบียบ
"เบื้องต้นยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนว่า พาดพิง หรือจ่ายสินบนให้ใคร ในโครงการใด แต่หากเป็นการซื้อเครื่องจักรและการก่อสร้าง เป็นเรื่องของผู้รับเหมาดำเนินการ ซึ่งจะนำเข้ามาอย่างไร ทางเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าคงไม่ทราบเรื่อง แต่ก็ให้ทาง กฟผ.และ EGCO ตรวจสอบทั้งหมด หากพบว่าใครทำผิดก็จะลงโทษ"นายวิฑูรย์ กล่าว
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ตั้งอยู่ในจ.นครศรีธรรมราช โดยโครงการนี้ ทาง Mitsubishi Corporation (MC) มีหน้าที่ ดูแลรวบรวมและสรุปการดำเนินงานของกลุ่มผู้รับเหมา ขณะที่มี MHPS เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์หลัก ต่าง ๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ได้งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม ขณะที่โรงไฟฟ้าขนอมมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. เป็นเวลา 25 ปี กำลังการผลิตรวม 930 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นหน่วยผลิตจำนวน 2 หน่วย ๆ ละ 465 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในวันที่ 19 มิ.ย.59 หลังจากได้เริ่มก่อสร้าง วันที่ 1 ต.ค.56
ทั้งนี้ EGCO มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กฟผ. ถือหุ้น 25.41% และ TEPDIA Generating B.V. (TEPDIA) ถือหุ้น 23 .49% โดย TEPDIA เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Tokyo Electric Power Company (TEPCO) และ Diamond Generating Asia, Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Mitsubishi Corporation ในสัดส่วนการร่วมทุนฝ่ายละ 50%
ปิดตลาดราคาหุ้น EGCO อยู่ที่ 225 บาท ลดลง 4 บาท หรือ 1.75% สวนทิศทางตลาดหุ้นที่ปรับขึ้น 0.60%
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรณีข่าวสินบนของ MHPS นั้นเท่าที่ติดตามข่าวเบื้องต้นพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด แต่เป็นขั้นตอนการขนส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งดูสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อเดือนส.ค.56 ในพื้นที่ภาคใต้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าใด โดยคาดว่า 1-2 วันนี้จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน