DOD เดินหน้าแผนสร้างโรงสกัด-ห้องแล็ป พร้อมเล็งเพิ่มไลน์ผลิตอาหารเสริมรูปแบบใหม่ช่วยหนุนรายได้-มาร์จิ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 19, 2018 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเร่งดำเนินงานในธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจโรงสกัดวัตถุดิบแห่งที่ 2 และธุรกิจห้องปฏิบัติการวิจัยระดับสากล ที่ได้มาตรฐาน ISO17025 (ห้อง LAB) รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าของบริษัทเอง โดยล่าสุดร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อเป็นที่ปรึกษาการดำเนินงานตั้งแต่ออกแบบโรงงานสกัดและคัดสรรเทคโนโลยีการสกัดที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการสั่งซื้อวัตถุดิบสารสกัดธรรมชาติที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ขณะที่ยังมีแผนเพิ่มไลน์ผลิตในส่วนของการผลิตอาหารเสริมในรูปแบบซอฟเจล และเยลลี่ จากเดิมที่มีเพียงเม็ดแคปซูล เม็ดตอก และผงชงดื่ม หวังช่วยผลักดันรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

"รัฐบาลมีการสนับสนุนให้เอกชนมีโรงสกัดและมีห้อง LAB เป็นของตนเอง ซึ่งการที่เราได้ระดมทุนเพื่อก่อสร้างโรงสกัดในครั้งนี้ เราไม่ได้ทำคนเดียว แต่เรามีหลาย ๆ หน่วยงานราชการที่เราไปติดต่อและได้รับการสนับสนุนในการเป็นที่ปรึกษา และช่วยแนะนำตั้งแต่เริ่มจนจบ"น.ส.ศุภมาส กล่าว

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ธุรกิจโรงสกัดวัตถุดิบแห่งที่ 2 บริษัทได้ร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานราชการหลายๆ หน่วยงาน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ หรือกองยาไทยและสมุนไพร เพื่อเป็นที่ปรึกษาในโรงสกัดทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสารสกัด การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัด การเลือกเครื่องจักร รวมไปถึงการวางแผนผังโครงสร้างต่าง ๆ ของโรงสกัด และการตรวจ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564

นอกจากนี้บริษัทมีสารสกัดแล้วทั้งสิ้น 14 ชนิด โดยที่ 5 ชนิดจะเป็นตัวที่อยู่ในแผนแม่บทแห่งชาติ ได้แก่ กระชายดำ ใบบัวบก ไพล ฟ้าทะลายโจร และขมิ้นชัน ซึ่งทั้งหมดนี้ DOD จะมีการดำเนินการอย่างแน่นอนเพื่อสนับสนุนรัฐบาล ส่วนอีก 9 ชนิด ก็พบว่าเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการออกแบบโรงงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากโรงสกัดดังกล่าวจะดำเนินการในมาตรฐานเดียวกับโรงงานยา คาดว่าจะได้รับอนุมัติการสร้างได้ภายในปีนี้ และขณะนี้ก็ได้บริษัทผู้ออกแบบที่เป็นอันดับต้นๆของประเทศ ที่มีความชำนาญในการออกแบบโรงสกัดเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะออกแบบให้สอดคล้องกับทางกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะใช้เวลาในการก่อสร้างราว 1 ปี คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 63

สำหรับโรงสกัดวัตถุดิบแห่งที่ 2 มีเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อสกัดสารสกัดซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงการสกัดเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก

น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า ด้านการลงทุนห้องปฏิบัติการวิจัยระดับสากล คาดว่าภายในปีนี้บริษัทจะได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO17025 จากกรมยุทธศาสตร์การแพทย์ ขณะที่ห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะสามารถตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะของสารสกัดที่ได้จากโรงสกัด ตลอดจนรับจ้างตรวจสอบทางเคมีและทางจุลชีววิทยาให้กับหน่วยงานอื่น และเพื่อรักษาความลับทางการค้า รวมถึงเพื่อใช้พัฒนาตราสินค้าใหม่ของบริษัท

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์สินค้าของบริษัทนั้น ปัจจุบันได้มีการเตรียมสินค้าไว้ทั้งหมดแล้ว แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรตรีผลา หรือสมุนไพรปรับธาตุ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ Marketing Survey คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ และน่าจะเห็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ในปีหน้าเป็นต้นไป

สำหรับธุรกิจเดิม หรือธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดจากธรรมชาติในรูปแบบการรับจ้างพัฒนาและผลิต (ODM) แบบครบวงจร (One Stop Service) หลังจากที่ได้มีการย้ายโรงงานจากเดิมที่มีพื้นที่ 1 ไร่มาเป็น 17 ไร่ ทำให้บริษัท สามารถรองรับออร์เดอร์ทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้ารายใหม่ได้เพิ่มขึ้น โดยบริษัทถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องของคุณภาพการผลิต จากการที่บริษัทได้พยายามทำมาตรฐานให้เทียบเท่ากับโรงงานยา ไม่ว่าจะเป็น GMP codex, ISO22000 และมาตรฐาน HACCP เป็นต้น

รวมถึงภายในโรงงานยังมีลักษณะเป็นห้องปลอดเชื้อ (Clean Room) การันตีได้ถึงมาตรฐานของสินค้า ทำให้ในครึ่งปีหลังนี้ก็มีลูกค้าทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ เข้ามาติดต่อเพื่อเริ่มโครงการกับบริษัทค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 60-70% ซึ่งสามารถรองรับกับออร์เดอร์ที่จะมีเข้ามาได้

"เรื่องคุณภาพของสินค้า เราให้ความสำคัญมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งการที่ออร์เดอร์เข้ามาเยอะก็มีโอกาสผิดพลาดสูง แม้ว่าตอนนี้กำลังการผลิตของเราจะยังไม่เต็ม แต่ไม่ใช่ว่าลูกค้าเข้ามาแล้วเราจะรับๆไว้หมดโดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ ฉะนั้นมันจะเป็นการ Balance ระหว่างออร์เดอร์ใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นกับคุณภาพของสินค้าที่เราต้องรักษาไว้"น.ส.ศุภมาส กล่าว

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนเพิ่มไลน์ผลิตในส่วนของการผลิตอาหารเสริมในรูปแบบซอฟเจล และเยลลี่ จากเดิมที่มีเพียงเม็ดแคปซูล เม็ดตอก และผงชงดื่ม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเจ้าของแบรนด์ต่างๆ มากขึ้น คาดว่าจะเห็นรูปแบบสินค้าใหม่ในช่วงสิ้นปีนี้หรือปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อรายได้มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และอัตรากำไรขั้นต้นที่จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ