KKP เผยกำไร Q2/61 โต 30.9% yoy จากสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องในทุกประเภท

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 20, 2018 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 1,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 1,185 ล้านบาทในไตรมาส 2/2560 หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2561 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.5 จากจำนวน 1,513 ล้านบาทในไตรมาส 1/2561

สำหรับกำไรเบ็ดเสร็จรวมของไตรมาส 2/2561 เท่ากับ 1,125 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20.6 จากจำนวน 1,416 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2560 หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2561 กำไรเบ็ดเสร็จรวมลดลงที่ร้อยละ 23.8 จากจำนวน 1,476 ล้านบาทในไตรมาส 1/2561 โดยกำไรเบ็ดเสร็จรวมได้รวมผลจากการวัดมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขายอันเป็นผลจากความผันผวนของตลาดทุน

ในไตรมาส 2/2561 สินเชื่อของธนาคาร ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 1/2561 ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกของปี 2561 สินเชื่อโดยรวมของธนาคารมีการขยายตัวที่ร้อยละ 10.2 โดยสินเชื่อมีการขยายตัวในทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.8 จากสิ้นปี 2560 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมยังคงปรับลดลงต่อเนื่องโดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 5.0 ณ สิ้นปี 2560 ทางด้านธุรกิจบริหารหนี้ ธนาคารขายทรัพย์รอการขายได้ในไตรมาส 2/2561 จำนวน 413 ล้านบาท และมีกำไรจากการขายทรัพย์รอการขาย 195 ล้านบาท

ในส่วนของธุรกิจตลาดเงินสามารถทำรายได้จำนวน 64 ล้านบาทในไตรมาส 2/2561 ทางด้าน บล.ภัทร มีส่วนแบ่งตลาด (SET และ mai ไม่รวมบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท) ร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นอันดับที่ 8 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง โดยลดลงจากร้อยละ 4.7 ในไตรมาส 1/2561

ในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการ ในไตรมาส 2/2561 ธนาคารได้เปิดให้บริการ Financial Hub แห่งที่สามที่สาขาเยาวราช เพื่อเป็นศูนย์บริการทางการเงินครบวงจรภายใต้แนวคิด "ธนาคารเป็นมากกว่าที่คุณคิด" โดยลูกค้าสามารถใช้บริการ Financial Hub ของธนาคารทั้งสามสาขาได้ที่ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ สาขาทองหล่อ และสาขาเยาวราช

ทั้งนี้ ธนาคารเกียรตินาคิน ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2561 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี โดยเป็นผลจากการเติบโตของภาคต่างประเทศตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ยังดีต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนที่กระจายตัวมากขึ้น ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน โดยการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างชัดเจนในสินค้าคงทน (โดยเฉพาะรถยนต์) และสินค้าหมวดบริการ (อันเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยว) ขณะที่หมวดสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องไปกับรายได้ของภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบปี

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนเริ่มเห็นการฟื้นตัวในหมวดก่อสร้าง จากเดิมที่การลงทุนภาคเอกชนมีความชัดเจนเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือและเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกเป็นสำคัญ ในส่วนของการลงทุนของภาครัฐเร่งเบิกจ่ายต่อเนื่องหลังจากที่หดตัวมากในช่วงท้ายของปี 2560 ทั้งนี้ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2561 ที่ขยายตัวมากกว่าคาดอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ผนวกกับแนวโน้มการฟื้นตัวดีต่อเนื่องในไตรมาส 2 ของปี ทำให้ฝ่ายวิจัยฯ ของธนาคารปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.8

แม้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ทยอยดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ได้แก่ หนึ่ง ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ทำให้การบริโภคของครัวเรือนยังคงขยายตัวต่ำ โดยเฉพาะภาระหนี้ที่ยังสูง สอง ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐและประเทศอื่นๆ ที่ตอบโต้สหรัฐอาจส่งผลให้การขยายตัวของภาคส่งออกและการลงทุนชะลอตัวลง สาม ความผันผวนของราคาน้ามันในทิศทางเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยฉพาะแถบตะวันออกกลาง ซึ่งกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดให้ปรับตัวลดลง และสี่ ความตึงตัวทางการเงินที่เริ่มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต และจากดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯ ยังคงคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จนถึงสิ้นปีนี้

ในส่วนของภาวะตลาดรถยนต์ในไตรมาส 2/2561 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็ก ซึ่งเริ่มมีการทยอยเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ หลังจากรถยนต์ในโครงการรถคันแรกครบกาหนดการถือครองตามเงื่อนไข 5 ปี ทั้งนี้ยอดขายรถยนต์ใน 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รวมรถยนต์นั่งอเนกประสงค์) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 22.4 และ 14.4 ต่อปี ตามลาดับ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยของธนาคารคาดว่า ยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2561 อาจอยู่ที่ 925,000 คัน ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี

สำหรับตลาดทุน มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาด เอ็ม เอ ไอ สำหรับไตรมาส 2/2561 เท่ากับ 59,853 ล้านบาท ลดลงจาก 71,182 ล้านบาทในไตรมาส 1/2561 หรือลดลงร้อยละ 15.9 ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 ปิดที่ 1,595.58 จุด ลดลงร้อยละ 10.2 จาก 1,776.26 จุด ณ สิ้นไตรมาส 1/2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ