"บีบีจีไอ"รุกขยายกำลังผลิตเอทานอล-ไบโอดีเซล,แผนลงทุนผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 24, 2018 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุน 1.55 พันล้านบาท เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจเอทานอลเป็น 8 แสนลิตร/วัน จาก 5 แสนลิตร/วันในปัจจุบัน และขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซล (B100) เป็นระดับ 1 ล้านลิตร/วัน จาก 9.3 แสนลิตร/วันในปัจจุบัน โดยการขยายกำลังผลิตดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 62 หลังมองความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันจะยังคงมีทิศทางขาขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้าแม้ว่าแนวโน้มของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเพิ่มขึ้นแต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับไม่มากนักในช่วง 10 ปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Products) ในอนาคต ทางด้านธุรกิจเอทานอล, ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Based) เพื่อตอบโจทย์เรื่องการช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอาง เพื่อต่อยอดงานวิจัยในด้านเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อผลิตสารสกัดมูลค่าสูง (Astraxantin) เป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอาง

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะนำเสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีความชัดเจนต่อแผนลงทุนของผลิตภัณฑ์ได้ในสิ้นปี เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อผลิตภัณฑ์ และใช้เวลาลงทุนสร้างโรงงานจนมีผลผลิตออกมาน่าจะใช้ระยะเวลาราว 3 ปี

"EV อย่างไรก็ต้องมา แต่วันนี้ยังมาไม่เร็วเท่าไหร่ ยังคาดการณ์กันว่า demand น้ำมันยังโตต่อเนื่องไปอีก 10 ปี ถึงปี ค.ศ.2030 ยังเป็นเทรนด์ขาขึ้นอยู่ ธุรกิจน้ำมันก็ยังเดินไปเรื่อย ๆ แต่ต้องจับตาว่าจะ keep momentum นี้ต่อไปหรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐยังส่งเสริมการใช้ E20 และ E85 ก็ยังมี demand ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นนโยบายที่เรายังจะขยายงานต่อเพราะมีตลาดรองรับ...ขณะเดียวกันเราก็จะทำอีก 1 ธุรกิจเพื่อเดินไปข้างหน้าเป็นเรื่องของ Bio Based เป็นการเอาพืชผลทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าเพิ่ม มาทำเป็น Bio Based Product หรือเป็นอาหารเสริม"นายพงษ์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ BBGI เกิดจากการรวมกิจการธุรกิจชีวภาพของกลุ่ม บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และธุรกิจเอทานอลของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) โดย BCP ถือหุ้น 60% และ KSL ถือหุ้น 40% ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล รวม 1.83 ล้านลิตร/วัน นับว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นการผลิตเอทานอล 5 แสนลิตร/วันจากของกลุ่มบริษัท และการผลิตเอทานอล 4 แสนลิตร/วันของ บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ BBGI ถือหุ้น 21.3% ขณะที่มีกำลังการผลิตไบโอดีเซล 9.3 แสนลิตร/วัน

นายพงษ์ชัย กล่าวว่า ความต้องการใช้เอทานอลในไทยยังคงเติบโตปีละ 6-7% มาที่ 4.4 ล้านลิตร/วัน ขณะที่กำลังการผลิตในประเทศอยู่ที่ 6 ล้านลิตร/วัน ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตเป็น 8 แสนลิตร/วันในสิ้นปี 62 จะใช้เงินลงทุนราว 1.5 พันล้านบาท และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 1 ล้านลิตร/วัน โดยมองการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 2 แนวทาง ได้แก่ การเข้าซื้อกิจการเพราะเชื่อว่าในอนาคตจะเข้าสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ทำให้น่าจะมีบางโรงงานต้องการขายกิจการ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งหากรัฐบาลแก้กฎหมายให้นำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้ ก็จะขยายกำลังการผลิตอีก 2 แสนลิตร/วันเพื่อให้ครบ 1 ล้านลิตร/วันด้วยตนเอง

สำหรับการขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซล เป็น 1 ล้านลิตร/วันนั้น จะเป็นลักษณะการขยายกำลังการผลิตแบบคอขวด (debottleneck) ใช้เงินลงทุนราว 50 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 62 โดยการใช้ไบโอดีเซลก็ยังคงมีการเติบโต ตามการใช้น้ำมันดีเซลที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเติบโตราว 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความต้องการใช้ไบโอดีเซล อยู่ที่ราว 4.5 ล้านลิตร/วัน ขณะที่กำลังการผลิตไบโอดีเซลของประเทศจนถึงสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 7 ล้านลิตร/วัน

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBGI กล่าวว่า บริษัทนับว่ามีความได้เปรียบทางธุรกิจจากการที่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งจากกลุ่มบางจากฯและกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ทำให้กลุ่มบริษัทมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการการสั่งซื้อวัตถุดิบ และยังได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทได้เป็นอย่างดี

"บริษัทนับว่ามีความได้เปรียบจากการที่เป็นผู้ผลิตเอทานอลที่มีเชื้อเพลิงหลากหลายทั้งจากกากน้ำตาล และมันสำปะหลัง ซึ่งหากมาร์จิ้นตัวใดตัวหนึ่งลดลง ก็จะทำให้มาร์จิ้นภาพรวมคงที่ไม่หวือหวา สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้...พื้นฐานของเราคือการทำเอทานอลและไบโอดีเซล หากความต้องการใช้หยุดชะงักหรือลดลง เราก็เตรียมพร้อมก้าวไปสู่ธุรกิจอื่นที่จะเป็นก้าวต่อไปของกลุ่มบริษัท"นายชลัช กล่าว

อนึ่ง BBGI ได้ยื่นแบบเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 216.60 ล้านหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป ,ผู้ถือหุ้นเดิมของ BCP และ KSL โดยมี บล.กสิกรไทย, บล.บัวหลวง และ บล.ฟินันซ่า เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในราวไตรมาส 4/61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ