รมว.พลังงาน สั่งกฟผ.-RATCH ช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเขื่อนย่อย"เซเปียน-เซน้ำน้อย"ในลาวแตก ,เร่งประเมินความเสียหาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 25, 2018 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้รับรายงานจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรณีเหตุเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา เพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวทรุดตัวและแตก ส่งผลให้มีมวลน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนในลาว โดยกฟผ.ได้สั่งการให้บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุน 25% ในโครงการดังกล่าวเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งบริษัทก็มีมาตรการสำหรับรับมือกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติที่เป็นมาตรการอันดับแรกในการลงไปช่วยเหลือแล้ว ขณะที่กฟผ.ก็ได้จัดส่งเครื่องมือและอุปกรณ์การช่วยเหลือเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยดังกล่าวด้วย

ส่วนการตรวจสอบสาเหตุและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องที่ทางการลาวจะดำเนินการตรวจสอบเอง เพราะเรื่องเกิดในประเทศลาว ส่วนไทยจะเป็นฝ่ายสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเร่งความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.มอบหมายให้ RATCH ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าไปตรวจสอบประสิทธิภาพของเขื่อนดินย่อยรอบเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป หลังมีเขื่อนดินย่อย 1 แห่งชำรุดจนทำให้มีน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน

อย่างไรก็ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ขนาดกำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ เพราะเขื่อนดินย่อยดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากเขื่อนหลักราว 10 กิโลเมตร ส่วนจะกระทบการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนก.พ.62 หรือไม่นั้น RATCH จะต้องเข้าไปประเมินความเสียหายร่วมกับพันธมิตรร่วมลงทุนในลาวต่อไป รวมถึงต้องรอผลการตรวจสอบจากทางการลาวต่อกรณีที่เกิดขึ้นจะเกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการก่อสร้างหรือไม่

อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียน-เซน้ำน้อย ดำเนินการโดยบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท RATCH ในสัดส่วน 25% SK Engineering & Construction Company Limited สัดส่วน 26% Korea Western Power Company Limited สัดส่วน 25% และรัฐบาล สปป. ลาว 24% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมีความก้าวหน้าประมาณ 90% ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีสัญญาขายไฟฟ้า 354 เมกะวัตต์ ให้แก่กฟผ. ระยะเวลา 27 ปี (ปี 62-89) และอีก 40 เมกะวัตต์ จะผลิตและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าลาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ