บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) อนุมัติการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยาน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3 วงเงิน 37,590.246 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 15,818.507 ล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 ดำเนินการระหว่างปี 2561-2567 ทอท.ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ทดม.เต็มศักยภาพของพื้นที่ให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี ตามโครงการจะมีการรื้ออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (หลังเดิม) พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสาร อาคาร 3 พื้นที่ 155,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคน/ปี
หลังจากนั้น จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยระหว่างการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ผู้โดยสารภายในประเทศจะสามารถใช้บริการได้ที่อาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร เมื่ออาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และอาคาร 2 แล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารภายในประเทศรวม 22 ล้านคน/ปี นอกจากนั้น จะมีการพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ทั้งในเขตการบิน (Airside) และนอกเขตการบิน (Landside) ซึ่งจะทำให้มีหลุมจอดเพิ่มขึ้นจาก 114 หลุมจอด เป็น 142 หลุมจอด มีการขยายช่องทางถนนในท่าอากาศยาน และเพิ่มที่จอดรถยนต์ จาก 4,475 คัน เป็น 5,736 คัน
รวมถึงการก่อสร้างอาคารต่างๆ เช่น อาคารดับเพลิงและกู้ภัยทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้เพื่อให้รถดับเพลิงและกู้ภัยสามารถเข้าถึงจุดเกิดอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์ของอากาศยานบริเวณทางวิ่งโดยใช้ระยะเวลาตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) การก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารรับรองบุคคลสำคัญ และการปรับปรุงอาคารคลังสินค้า เป็นต้น การดำเนินงานโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567 มีประมาณการเงินลงทุนรวม 37,590.246 ล้านบาท (รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง ภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน ทดม.มีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นและมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ อีกทั้ง ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็น Group Tour มาคอยตรวจบัตรโดยสาร (เช็คอิน) มากกว่าปกติ จึงทำให้พื้นที่ตรวจบัตรโดยสารอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ที่มีความแออัดอยู่แล้วนั้นเกิดความแออัดหนาแน่นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่งของ ทดม. และให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาขีดความสามารถของ ทดม.จึงจำเป็นต้องมีก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (Association of Thai Travel Agents: ATTA) ซึ่งอยู่ติดกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ในวงเงินงบประมาณ 207.11 ล้านบาท
โดยจะก่อสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ประมาณ 6,300 ตารางเมตร ชั้นล่างเป็นโถงผู้โดยสารขาเข้าและพื้นที่รอขึ้นรถ รวมทั้งมีพื้นที่จอดรถบัสได้จำนวน 16 คัน ชั้นบนเป็นโถงผู้โดยสารขาออกเพื่อพักรอก่อนการตรวจบัตรโดยสารที่อาคาร 1 ซึ่งการก่อสร้างอาคารหลังนี้จะสามารถช่วยลดความแออัดบริเวณพื้นที่ตรวจบัตรโดยสารที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ได้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 เดือน และจะแล้วเสร็จทันการรองรับผู้โดยสารในช่วง High Season เดือนมกราคม 2562 และจะทำให้ภาพรวมของระดับการให้บริการ (Level of Service) ทดม.เหมาะสมยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการพัฒนา ทชม.ระยะที่ 1 ดำเนินการระหว่าง ปี 2561-2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ทชม.ให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 16.5 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับได้ 8 ล้านคน/ปี ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2568 โดยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอาคาร ได้แก่ ทางขับและลานจอดอากาศยาน ซึ่งจะมีหลุมจอดเพิ่มขึ้นจาก 12 หลุมจอดเป็น 31 หลุมจอด การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ ทชม.มีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร จากเดิมมีเพียงอาคารเดียว
นอกจากนั้น มีการก่อสร้างอาคารสำนักงาน ทชม.สายการบิน พร้อมที่จอดรถยนต์ อาคารระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ระบบถนนภายในโดยเพิ่มช่องทางจราจร และมีการก่อสร้างทางยกระดับแยกผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก รวมถึงเพิ่มพื้นที่จอดรถยนต์จาก 800 คัน เป็น 3,000 คัน และการปรับปรุงขยายระบบเติมน้ำมันอากาศยานทางท่อ ซึ่งงานเหล่านี้กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565
ในการปรับปรุงแผนแม่บทและโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าว ทอท.ได้มีการบูรณาการยุทธศาสตร์นโยบายของรัฐบาล นโยบายกระทรวงคมนาคม รวมถึงแผนบริหารความเสี่ยงและการวิเคราะห์ทางการเงินตลอดจนคำนึงถึงการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระยะการดำเนินโครงการพัฒนาด้วยเพื่อให้การดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 คณะกรรมการ ทอท.ได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ,ทดม. , ทชม. ,ท่าอากาศยานเชียงราย (ทชร.) ,ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) อย่างไรก็ตาม จากการที่ปริมาณจราจรทางอากาศมีอัตราการเติบโตอย่างมากในปัจจุบันและเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ ตลอดจนความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัดของท่าอากาศยาน ทอท.จึงมีการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยาน (Airport Master Plan) ทั้ง 6 แห่ง โดยการปรับปรุงแผนแม่บท ทสภ.ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทอท.แล้วในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2561
ขณะที่เมื่อวานนี้ คณะกรรมการ ทอท.ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานอีก 5 แห่ง คือ ทดม. ,ทชม. ,ทชร. ทหญ. และ ทภก. โดยคาดการณ์การจราจรทางอากาศถึงปี 2580 และกำหนดโครงการพัฒนาภายใต้แผนแม่บทเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานเป็นระยะๆ ให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคตสอดคล้องกับความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกและพฤติกรรมของผู้ใช้บริการตลอดจนสนับสนุนยุทธศาสตร์และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความเห็นชอบโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนา ทชม.ระยะที่ 1 และการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทอท.แล้ว ทอท.จะเสนอแผนแม่บทการพัฒนา ทดม. , ทภก. , ทชม. , ทชร. และ ทหญ. รวมทั้งโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนา ทชม.ระยะที่ 1 ให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป