นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อร่วมลงทุนดำเนินโครงการปิโตรเคมีในประเทศกลุ่มอาเซียน ขณะที่ประเทศดังกล่าวมีแผนที่จะลงทุนโครงการปิโตรเคมีทำให้พันธมิตรท้องถิ่นได้เข้ามาชักชวนเนื่องจากเห็นว่าบริษัทมีความเชี่ยวชาญธุรกิจ ประกอบกับคาดว่าโครงการจะสามารถจัดหาวัตถุดิบได้ในต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหากสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก็จะชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป
"เราอาจจะทำปิโตรเคมี แต่ไม่ใช่เมืองไทยแล้ว ตอนนี้ยังเป็นความลับอยู่ พอสรุปได้ก็จะรู้ เป็นการร่วมทุนกับต่างประเทศแถวอาเซียน...เขาชวนเราไปลงทุน เขาเห็นผลงานของเราที่ระยอง มีใครทำได้บ้างที่เริ่มจากศูนย์แบบของผม ตอนนี้เราคุย ๆ กันอยู่พื้นที่ที่จะทำมีคนเยอะ มีแหล่งน้ำ มีตลาดรองรับ"นายประชัย กล่าว
นายประชัย กล่าวว่า กลุ่มบริษัทยังให้ความสนใจที่จะขยายลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีบมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ก็จะขยายไปอาเซียนทั้งในพลังงานหลักและพลังงานทดแทน ทั้งขยะ ,ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ โดยมุ่งโฟกัสในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาช่วยดูแลหากจะกลับมาดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีอีกครั้งนั้น นายประชัย คาดว่า จะเป็นบุตรชายของนายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ หรือหลานชายของตัวเอง ที่จบการศึกษาด้านปิโตรเคมีจากต่างประเทศมาโดยตรง และได้เข้ามาช่วยงานนายประมวล ซึ่งเป็นน้องชายของตนเองอยู่ในขณะนี้
ปัจจุบันกลุ่ม TPIPL เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปูนเม็ด ปูนสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก LDPE & EVA กระเบื้องคอนกรีต ไฟเบอร์ซีเมนต์ อิฐมวลเบา ธุรกิจรับกำจัดกากอุตสาหกรรม และธุรกิจน้ำดื่ม รวมถึงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิง RDF ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถผลิตเชื้อเพลิง RDF จากขยะ
นายประชัย นับเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจปิโตรเคมีในนามของบมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) ในพื้นที่จ.ระยอง เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ก่อนจะต่อยอดและขยายอาณาจักรตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่ต่อมาเมื่อประเทศเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ"ต้มยำกุ้ง" จนนำมาสู่การลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อเดือน ก.ค.40 ทำให้ TPI ซึ่งมีภาระหนี้สินต่างประเทศจำนวนมากในขณะนั้น มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่าเท่าตัว และนำมาซึ่งการประกาศหยุดพักชำระหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้ อย่าง TPI ทำให้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง พร้อมกับมีแผนปรับโครงสร้างหนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มทุน ซึ่งมีบมจ.ปตท. (PTT) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ใน TPI ก่อนจะแปลงสภาพเป็นบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ในปัจจุบันสลายภาพความเป็นอาณาจักร TPI อย่างสิ้นเชิง
ณ วันนี้แม้กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ และกลุ่มปตท. ได้ยุติข้อพิพาททุกคดี ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญาที่มีต่อกันแล้ว แต่เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีที่ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลังสมัยที่มี ร.อ.สุชาติ เชาววิศิษฎ์ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู TPI ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังในการเข้าบริหารบริษัทเอกชน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
นายประชัย เคยเข้าสู่แวดวงการเมืองเมื่อปี 49 ด้วยการเป็นสมาชิกพรรคประชาราช ก่อนย้ายมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมัชฌิมาธิปไตย แต่ไม่ประสบความสำเร็จและยุติบทบาททางการเมืองเมื่อปลายปี 50 วันนี้นายประชัย ในวัย 74 ปี ได้ปฎิเสธที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองอีกครั้ง หลังจากมองว่าการเมืองในประเทศยังคงมีภาพของการซื้อเสียงและการคอร์รัปชั่น