GBS มอง SET สัปดาห์นี้แกว่งกรอบ 1,685-1,745 จุด รับผลบวกรัฐกระตุ้นศก.ในปท.-ตั้งไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 7, 2018 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.โกลเบล็ก (GBS) มองการเคลื่อนไหวของดัชนี SET สัปดาห์นี้ แกว่งตัวในกรอบ 1,685-1,745 จุด รับอานิสงส์การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และแผนระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ 4.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปัจจัยลบที่จะยังกดดันต่อการลงทุนยังคงเป็นประเด็นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนมีท่าทียืดเยื้อต่อไปอีก

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของ GBS กล่าวว่า ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ มีปัจจัยบวกมาจากการที่กระทรวงการคลังประกาศเดินหน้าแผนระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทเพื่อก่อสร้างทางด่วน คาดจะจำหน่ายในไตรมาส 3/61 ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนก.ย. รวมถึงนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสลับมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค.เป็นต้นมา และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในทิศทางที่ดี อัตราการว่างงานของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 3.9% ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจาก สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนมีท่าทียืดเยื้อ จากการที่จีนประกาศจะเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยคิดอัตราภาษีในช่วง 5-25% หลังสหรัฐประกาศจะเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มจากเดิมที่จะเก็บในอัตรา 10% และราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเนื่องจากตลาดมีความกังวลภาวะน้ำมันล้นตลาดจากปริมาณการผลิตน้ำมันจากรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ขณะที่สงครามการค้าอาจลดอุปสงค์การใช้น้ำมัน

นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยที่น่าจับตา ได้แก่ ในวันที่ 8 ส.ค.กำหนดประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) และคลื่น 900 MHz โดยต้องจับตา DTAC, ADVANC, TRUE ว่าจะเข้ายื่นประมูลคลื่นหรือไม่

และในวันที่ 9 ส.ค.จีนเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค.และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. ส่วนสหรัฐฯ จะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิ.ย. ขณะที่ในวันที่ 10 ส.ค. ญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/61 อังกฤษ เปิดเผย GDP ไตรมาส 2/61 และสหรัฐฯเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. และวันที่ 14 ส.ค. เป็นวันสุดท้ายในการส่งงบการเงินงวดไตรมาส 2/61

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของ GBS กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวนขึ้น คาดดัชนี SET ผันผวนในกรอบ 1,685-1,745 จุด แนะเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าไตรมาส 2/61 เติบโตดี ได้แก่ BANPU, BPP, JUBILE, DELTA, SVI, CPF, LH, ANAN, ROJNA, TPIPP และ WHAUP รวมถึงหุ้นที่ได้อานิสงส์จากค่าการกลั่นเริ่มปรับตัวขึ้น ได้แก่ TOP, SPRC และ IRPC นอกจากนี้ยังแนะนำลงทุนในหุ้น High Beta High Dividend ได้แก่ TPIPP, HTC, IRPC, UTP, TKN, SEAFCO, WICE, ORI และ RS

ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาทองคำและค่าเงินบาทจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ , ญี่ปุ่น และอังกฤษได้ผ่านพ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยราคาทองคำยังคงถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดึงเงินกลับเพื่อลดงบดุล ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า แต่ความเสี่ยงของสงครามการค้าโลกที่มีสัญญาณทวีความรุนแรงขึ้น ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน ซึ่งส่งผลดีต่อราคาทองคำ ทำให้ในระยะสั้นกรอบราคาทองคำจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงที่กำลังหาจุดกลับตัว โดยมองว่าราคาไม่ควรหลุดแนวรับจิตวิทยาที่ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ เพื่อสร้างโอกาสดีดตัวขึ้นทดสอบช่วง 1,220–1,225 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญที่จะเป็นสัญญาณซื้อแรกสำหรับการกลับเป็นขาขึ้น

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงมองว่า การอ่อนตัวลงใกล้ระดับ 1,200 ดอลลาร์ จะเป็นโอกาสให้พอร์ตระยะกลางถึงยาวเข้าทยอยซื้อสะสมเพื่อเล่นรอบหรือถือลงทุน แต่ถ้าราคาปรับตัวลงต่ำกว่า 1,200 ดอลลาร์ นักลงทุนควรเลือก short against port หรือ เปิดสถานะ short แล้วรอจังหวะซื้อคืนในภายหลัง ส่วนพอร์ตระยะสั้น แนะนำให้รอจังหวะ follow เมื่อ breakout จากกรอบ 1,200–1,225 ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ