นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 419 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.4 จากกำไรสุทธิ 462.5 ล้านบาทในไตรมาส 2/60 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 จากกำไรสุทธิ 351.15 ล้านบาท ในไตรมาส 1/61 โดยมีรายได้จากการขายไฟฟ้าประมาณ 874 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/61 อย่างไรก็ตาม รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 สาเหตุเกิดจากความเข้มของแสงในไตรมาสที่ 2/61 ลดลงทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศฟิลิปปินส์และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเป็นจำนวน 19 ล้านบาท ลดลง 50 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 72.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการทำรีไฟแนนซ์โครงการที่ประเทศอินโดนีเซียเพื่อขยายเวลาการชำระหนี้และเพิ่มกระแสเงินสดให้ดีขึ้น โดยจะมีการบันทึกเพียงครั้งเดียวในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวยังเป็นไปตามปกติ
ทั้งนี้ บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น 66.7 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expense) ลดลงจากไตรมาสที่ 1/61 ร้อยละ 8 และลดลงร้อยละ 27.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/61 กลุ่มบริษัทมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 33,388 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8 เทียบกับสิ้นปี 60 สำหรับหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 18,206 ล้านบาท (หากเป็นหนี้สินรวมเท่ากับ 19,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เทียบกับสิ้นปี 60 และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 1.32 เท่า ณ สิ้นไตรมาส เพิ่มขึ้นล็กน้อยจาก 1.23 เท่า ณ สิ้นปี 60
ในช่วงครึ่งหลังของปี 61 บริษัทยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปภัมภ์ (อผศ.) ของบริษัท ที่จังหวัดสระบุรีและกาญจนบุรี ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเริ่มรับรู้รายได้ด้วยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาที่ 8.94 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกัน โครงการนำร่องที่ T77 ของการซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเตอร์เน็ตแบบ Peer-to-Peer ที่ทางบริษัท ได้ร่วมมือกับบมจ.แสนสิริ (SIRI) และบริษัท Power Ledger จากประเทศออสเตรเลีย จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปลายเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนการขยายธุรกิจยังคงเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ อาทิ การดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในโครงการต่าง ๆ การดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ โดยโครงการนี้ได้รับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าแบบอัตราส่วนเพิ่ม (adder) ที่ 3.5 บาท จากค่าไฟฐาน ในขณะที่การเติบโตจากการเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน หรือการลงทุนใหม่นั้น บริษัทยังให้ความสนใจในธุรกิจพลังงานสะอาดทุกรูปแบบที่มีศักยภาพในการเติบโตและสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัท โดยใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นของโครงการ (EIRR) ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการที่จะลงทุน โดย EIRR นั้นต้องอยู่ในช่วงร้อยละ 12 – 15