นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.เตรียมเสนอคณะกรรมการ กสทช.พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ภายหลังวันที่ 19 ส.ค.นี้ เนื่องจากในการเปิดประมูลรอบนี้ไม่มีผู้ประสงค์เข้าร่วม
ทั้งนี้ จากการเปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันนี้ มี 2 บริษัท ที่มายื่นคำขอรับใบอนุญาต คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) มาในช่วงเช้า และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) มาในช่วงบ่าย
โดยทั้ง 2 บริษัท มีความประสงค์จะเข้าประมูลในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และได้มีการวางหลักประกันการประมูลไว้ 2,500 ล้านบาท ซึ่งผู้ประมูลจะสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ในวันที่ 9-13 ส.ค.61 จะมีการพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล และในวันที่ 15 ส.ค.61 จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และวันที่ 16-17 ส.ค.61 จะชี้แจงกระบวนการประมูล และ Mock Auction เป็นไปตามกรอบเวลาการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดยวันเคาะราคาประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.61
ขณะที่ในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันนี้ไม่มีผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูล โดยทาง DTAC ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อ กสทช. ว่า ในเรื่องของการทำระบบป้องกันการรบกวนที่ยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับทาง กสทช.ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ในย่านนี้จำนวน 5 MHz ให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน
แต่อย่างไรก็ตาม หากการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลเดิม หรือมีการจัดทำระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่เฉพาะราย และคลื่นความถี่ไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกับรถไฟความเร็วสูง DTAC ก็มีความประสงค์ที่จะนำคลื่นดังกล่าวไปใช้งานต่อไป เนื่องจากมีความชัดเจนต่างๆ แล้ว
อนึ่ง เงื่อนไขในการประมูลคลื่น 900 MHz ได้กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยมีภาระในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz และผู้ให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทางราง
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาคลื่น 900 MHz ตามมติที่ประชุม กสทช.ที่ผ่านมาได้ระบุไว้ว่าการเข้าสู่กระบวนการเยียวยา จะต้องเป็นผู้เข้าประมูลในคลื่นความถี่ 900 MHz เท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ทาง DTAC ยังไม่ได้ยื่นหนังสือให้มีการทบทวนมติที่ประชุม กสทช.ในเรื่องดังกล่าว
ด้านการศึกษาการเปิดประมูลคลื่น 5G ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยการประมูลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะต้องมีคลื่นความถี่ในการใช้งานรองรับที่เพียงพอ หรือมีคลื่นใช้งานไม่น้อยกว่า 100 MHz แต่ในปัจจุบันยังไม่มีรายใดถือครองคลื่นได้ตามกำหนด ซึ่งโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองคลื่นสูงสุดอยู่ที่ 55 MHz รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมจะต้องสามารถรองรับการใช้งาน 5G อย่างเพียงพอ และใช้งานจะต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และอุตสาหกรรมต่างๆ