นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/61 มีกำไรสุทธิ 222 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 107ล้านบาทในไตรมาส 1/61 เป็นผลมาจากการปรับพอร์ตการขายไก่ และ ราคาเฉลี่ยสุกรที่สูงขึ้น
ขณะที่ไตรมาส 2/61 บริษัท มีรายได้รวม 6,712 ล้านบาท จากไตรมาสแรกมีมีรายได้ 6,675 ล้านบาท และหากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/60 มีรายได้ 6,214 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8% แต่กำไรลดลง
สาเหตุหลักของรายได้เพิ่มขึ้นแต่กำไรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน เนื่องจากราคาเฉลี่ยของไก่ลดลง 13.65% จาก 42.2 บาท/กิโลกรัม เป็น 36.4 บาท/กิโลกรัม เป็นผลมาจากราคาไก่ในประเทศลดต่ำลง และราคาสุกร เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.84% จาก 60.93 บาท/กิโลกรัมในปีที่แล้ว เป็น 63.27 บาท/กิโลกรัม ในไตรมาส 2/61
ขณะเดียวกัน ณ สิ้นไตรมาส 2/61 บริษัทได้ลงบัญชีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 83 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และบริษัทได้ซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ารองรับไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นจริงในไตรมาส 3/61 ในส่วนนี้จะกลับมามีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 61 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในรอบครึ่งปีแรกของปีนี้บริษัทมีรายได้ 13,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 12,160 ล้านบาท
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ภาพธุรกิจโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาส 3/61 และไตรมาส 4/61 ของปีนี้ โดยธุรกิจไก่ บริษัทได้เร่งปรับพอร์ตการขายเข้าสู่ตลาดส่งออกที่มีกำไรขั้นต้นสูงขึ้น เพื่อเพิ่มราคาขายเฉลี่ยให้สูงขึ้นอีก โดยเพิ่มพอร์ตการผลิตและการขาย มีเป้าหมายรวมส่งออก 60,000 ตัน/ปี ประกอบด้วย ตลาดส่งออกใหม่ที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้ คือ ประเทศจีน ซึ่งมีความต้องการสินค้าประเภทขาไก่และปีกเข้ามาสูงมาก ถึงสิ้นปีนี้น่าจะทำได้เพิ่มอีกประมาณ 7,000 ตัน ในราคาสูงกว่าราคาในประเทศเป็นส่วนที่ได้เพิ่มเข้ามาอย่างชัดเจน
รวมถึงมีตลาดส่งออกเพิ่มเติมทั้งยุโรปและญี่ปุ่นยังเติบโตต่อเนื่องตามเป้าหมายเดิม 50,000 ตันภายในสิ้นปี เพื่อสร้างกำไรให้สูงกว่าการขายในประเทศ และ เร่งปรับเปลี่ยนสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้า by-products เป็นสินค้าปรุงสุก ส่งออกและอุตสาหกรรม และ ลดการขายสินค้าไก่ภายในประเทศลง
นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มผลิตไก่ปรุงสุกเพื่อส่งออกจากโรงงานใหม่ในเดือน ส.ค.นี้ โดยผลิตให้กับลูกค้ารายใหญ่จากญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นการส่งสินค้าปรุงสุกเข้าเครือข่ายร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ มีออร์เดอร์กลุ่มแรกเป้าหมาย 1,500 ตัน มูลค่าประมาณ 290 ล้านบาท ซึ่งมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าการส่งออกไก่ดิบแช่แข็ง และจะเป็นคำสั่งซื้อระยะยาวต่อเนื่อง มีราคาเสถียรกว่า ทำให้ธุรกิจยั่งยืนกว่า ซึ่งจะช่วยลดการขายไก่ในประเทศและป้อนชิ้นส่วนไก่เป็นวัตถุดิบสู่โรงงานปรุงสุกมากขึ้นเป็นการเพิ่มราคาไก่เฉลี่ยให้สูงขึ้นอีกทางหนึ่ง
ส่วนธุรกิจสุกรในประเทศ ราคาตลาดเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากระดับต่ำสุดในไตรมาสแรก ราคาสุกรเป็น อยู่ที่ 40 บาท/กิโลกรัมในไตรมาส 2/61 ที่ผ่านมายังได้รับผลกระทบบางส่วนจากราคาเฉลี่ยที่ต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 58 บาทต่อกิโล ทำให้ธุรกิจสุกร สามารถสร้างรายได้สูงขึ้นมาก จึงเร่งขยายการเลี้ยงและขายจากในครึ่งปีแรกเดือนละ 70,000 ตัว เพิ่มอีก 14% เป็น 80,000 ตัวต่อเดือน เพื่อรับการตอบรับดีมานด์และราคาตลาดในครึ่งปีหลังและต้นปีหน้า
อีกทั้งได้มีการปรับสัดส่วน การขายสุกรเป็นกับสุกรชำแหละ เพื่อสร้างกำไรขั้นต้นให้สูงขึ้นเพื่อรองรับตลาดที่ฟื้นตัว และขยายกำลังการผลิตของโรงชำแหละสุกรที่พนัสนิคม ชลบุรี เพิ่มอีก 25% เป็น 1,000 ตัวต่อวัน โดยลดการผลิตสุกรชำแหละจากโรงชำแหละที่เช่าอยู่ที่ กบินทร์บุรีลงในไตรมาส 3/61 โดยธุรกิจสุกรโดยรวมน่าจะทำรายได้รวมประมาณ 6,000 ล้านบาทในปีนี้
ส่วนตลาดสุกรในเวียตนาม ราคาปรับตัวสูงขึ้นสูงกว่าในประเทศไทย ราคาตลาดปัจจุบัน อยู่ที่ ประมาณ 70 บาทต่อกิโลกรัม โดยบริษัทฯ ส่งสุกรเข้าตลาดเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 7,000 ตัวต่อเดือน เป็นเดือนละ 8,000 ตัว ในครึ่งปีหลัง
ธุรกิจอาหารสัตว์ ครึ่งปีแรก มีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รายได้ขยายตัวต่อเนื่อง ในปีนี้ยอดขายภายในเครือ ประมาณ 10,000 ล้านบาท และ มีเป้าหมายการขายนอกเครืออยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ทั้งปีหรือ ขยายตัวกว่า 35% จากปีที่แล้ว และสามารถทำกำไรขั้นต้นได้ต่อเนื่อง
นายเชิดศักดิ์กล่าวว่า บริษัทยังมีความมั่นใจว่าธุรกิจ ทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว และสร้างรายได้รวมและกำไรเพิ่มให้เติบโตในปี 61 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ราคาตลาดของไก่และสุกร ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าและในประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ รวมถึงป้องกันโรคระบาดของไก่และสุกรอย่างระมัดระวังขั้นสูงสุด