DTAC แจงไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz เหตุต้นทุนจัดการสูง แนะกสทช.ใช้คลื่น 450 MHz เดินรถไฟฟ้าแทน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 9, 2018 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่เข้าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) มาจากเหตุผล 3 ข้อคือ ต้นทุนในการบริหารจัดการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณกิจการระบบราง เพราะในทางปฏิบัติค่อนข้างลำบากที่จะเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวนในพื้นที่ของโอเปอเรเตอร์รายอื่นและพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเฉพาะไม่ทราบจำนวนว่าจะต้องติดตั้งจำนวนมากแค่ไหน และกรณีที่ผู้ชนะประมูลต้องมีความรับผิดถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นเกิดขึ้นกับการเดินรถ ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ชนะต้องรับผิดชอบระบบป้องกันสัญญาณรบกวน

พร้อมยกตัวอย่าง การเดินรถไฟฟ้าในประเทศจีนใช้คลื่นความถี่ย่าน 450 MHz บนเทคโนโลยี LTE-R หากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ย้ายให้ รฟท.ไปใช้คลื่น 450 MHz ก็สามารถทำได้ จากนั้นจึงเอาคลื่น 900 MHz นำมาประมูล ซึ่งหากทำได้ ถึงเวลานั้นดีแทคจะดูอีกครั้งว่า กสทช. จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการประมูลด้วยหรือไม่อย่างไร

ดังนั้น ดีแทคอยากเสนอทางออกต่อ กสทช. 3 แนวทาง คือ 1. ให้รฟท.ใช้ 450 MHz ในการเดินรถไฟฟ้า แล้วนำคลื่น 900 MHz จำนวน 10 เมกกะเฮิรตซ์ มาประมูล ส่วนหากกังวลเนื่องรบกวนสัญญาณ ให้ทำอุปกรณ์สำคัญอย่างเหมาะสม 2. ทุกฝ่ายที่ใช้คลื่น 900 MHz เหมือนเดิม โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่น ไปติดอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนสัญญาณของตัวเอง แล้วเอาค่าใช้จ่ายไปเก็บกับ กสทช. และ 3.ใช้คลื่น 900 MHz แต่ย้ายสล็อตให้ รฟท. ไปใช้สล็อตที่อยู่ช่วงต้นของคลื่น 900 MHz แต่แนวทางนี้คนที่จะเกิดปัญหาคือผู้ให้บริการรายเดียวที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนสัญญาณ วิธีนี้โอเปอเรเตอร์รายนั้นอาจไม่เห็นด้วย

"ตอนที่ดีแทคเอาคลื่น(คลื่น 850 MHz ที่ดีแทคเคยมีสัมปทาน ) ไปคืนกสทช.ก็เคยบอกว่า ไม่ควรเอาคลื่น 850 MHz ไปใช้กับกิจการรถไฟ เราคิดว่าการให้ รฟท. ย้ายไปใช้คลื่นย่านอื่นที่ไม่ใช่ทั้ง 850 MHz และ 900 MHz ดีแทคสนับสนุนให้ กสทช.ทบทวนการใช้คลื่นของ รฟท.จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เมื่อ รฟท.ไม่ใช่คลื่น 850 MHz และ 900 MHz แล้วก็เอามาประมูลได้"

ประเด็นปัญหาอีกประเด็นคือ ดีแทคใช้คลื่นย่าน 850 MHz มาตลอด โดยมีเสาอากาศและสถานีฐาน 13,000 ต้น อุปกรณ์ของคลื่นย่าน 850 MHz ใช้กับคลื่น 900 MHz ไม่ได้ เมื่อกสทช.เอาคลื่น 850 MHz มาปรับปรุงเป็นคลื่น 900 MHz ดีแทคต้องติดตั้งสถานีฐานใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ส่วนนี้ก็เป็นประเด็นที่ดีแทคต้องดูต่อไปว่า กสทช. มองปัญหานี้อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ