สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตือนผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังอย่างมาก หลังพบพฤติกรรมอ้างการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมเปิดรายชื่อตัวกลางที่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปก่อนได้ หากยื่นขออนุญาตภายใน 14 สิงหาคม 2561
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีการหลอกลวงโดยอ้างถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายกรณี ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของผู้ลงทุนในมูลค่าที่สูง จึงเป็นที่มาของการจัดทำ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดกรอบการกำกับดูแลให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัล และผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกได้
ทั้งนี้ หากประชาชนถูกชักชวนให้ลงทุนในไอซีโอหรือซื้อโทเคนดิจิทัลในช่วงนี้ ขอให้ทราบว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ออกไอซีโอรายใดได้รับการอนุญาต รวมทั้งยังไม่มีผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับการยอมรับจาก ก.ล.ต. ซึ่งในอนาคตเมื่อมีผู้ออกไอซีโอ หรือ ICO portal ที่เป็นไปตามเกณฑ์แล้ว ก.ล.ต. จะเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ต่อไป
ส่วนกรณีที่ถูกชักชวนให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีผู้แสดงตนเป็นตัวกลาง ไม่ว่าจะในฐานะศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ก.ล.ต. ขอให้ผู้ลงทุนตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ติดต่อชักชวนบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ก่อน ทั้งนี้ ผู้ที่สามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันได้ ต้องเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โดยหากมายื่นขออนุญาตภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 จะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้จนกว่าจะถูกสั่งห้าม ส่วนผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหม่จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะเริ่มประกอบธุรกิจได้
หากพบว่า ผู้ที่มาติดต่อชักชวนไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว ขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก และหากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถสอบถาม ก.ล.ต. ที่ โทร. 1207
"อนึ่ง กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวตำรวจกองปราบปรามได้จับกุมผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงิน โดยผู้เสียหายถูกชักชวนให้ลงทุนประกอบธุรกิจประเภท ซื้อ-ขาย สกุลเงินดิจิทัล และผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินดิจิทัลสกุลบิทคอยน์ คิดเป็นเงินไทยจำนวนกว่า 797 ล้านบาท ในชั้นนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนและจะนำมาพิจารณาว่ามีการกระทำส่วนใดที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์หรือกฎหมายการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้อง ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด" นายรพีกล่าวเสริม