นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คาดว่า ผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรในส่วนรถไฟฟ้าในปี 62-63 เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเปิดเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ โดยในปี 62 จะเปิดเดินรถช่วงหัวลำโพง-บางแค ในเดือน ก.ย.คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเติบโต 12% จากปีนี้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเติบโต 4% ส่วนรายได้ในปี 62 คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 10% จากปีนี้ที่คาดว่ารายได้เติบโต 8%
และในปี 63 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นราว 20% หลังเปิดเดินรถอีกช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ในเดือนมี.ค. 63 และคาดว่ารายได้จะเติบโตมากกว่า 20% เนื่องจากบริษัทรับรู้การเดินรถสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง -บางแค เต็มปี ขณะที่รายได้จากการเดินรถ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ หายไปเพียงไตรมาสเดียว
นายสมบัติ กล่าวต่อว่า การเดินรถในเส้นทางที่มีระยะทางมากขึ้นจะทำให้ผู้โดยสารเดินทางมากสถานี โดยปัจจุบันเดินทางเฉลี่ย 5-6 สถานี ก็จะคาดจะเพิ่มเป็น 8-9 สถานี ทำให้รายได้ต่อคนต่อเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งเส้นที่อัตรา 14-42 บาท
"เราจะ Jump ในปี 62-63 Jump ด้วยการเดินรถส่วนต่อขยายของเราเอง (สายสีน้ำเงิน) รายได้มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าจำนวนผู้โดยสาร ด้วยการเดินทางที่ยาวขึ้น ไม่ใช่ราคาค่าโดยสาร"นายสมบัติ กล่าว
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าขบวนใหม่จะเริ่มทยอยเข้ามาครบ 12 ขบวนก่อนการเปิดให้บริการใน ก.ย. 62 และทยอยเข้ามาอีก ให้ครบ 35 ขบวนก่อนเปิดให้บริการในมี.ค. 63 จากปัจจุบันบริษัทมีรถไฟฟ้าที่ใช้บริการอยู่ 19 ขบวน
ขณะที่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม. คาดว่า หลังการเปิดเดินรถ ก.ย. 62 ช่วงหัวลำโพง -บางแค คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 4 แสนคน/วัน หรืออาจจะเพิ่มเป็น 4.5 แสนคน/วัน และในปี 63 ที่เปิดเดินรถช่วงบางซื่อ-ท่าพระ คาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 5 แสนคน/วัน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเส้นทางหัวลำโพง-เตาปูน 3 แสนคน/วัน หรือวันธรรมดาอยู่ที่ 3.5 แสนคน/วัน
สำหรับผลประกอบการของ BEM ในไตรมาส 2/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 289 ล้านบาท หรือ 20.3% เนื่องจากมีกำไรจากการขายเงินลงทุนรวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงจากการรีไฟแนนซ์เงินกู้ยืมระยะยาวโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ (SOE) และรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ไตรมาส 2/61 มีกำไรสุทธิ 978 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 255 ล้านบาท หรือ 35.3%
ด้านการก่อสร้างทางเชื่อมต่อโครงการ SOE กับทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) มีความก้าวหน้ามากกว่า 90% พร้อมเปิดบริการปลายเดือน ก.ย.โดยทางเชื่อมดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทางพิเศษที่ต้องการไปแจ้งวัฒนะ และเชื่อมต่อทางพิเศษอุดรรัถยาเดินทางต่อไปบางปะอิน รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นบนถนนกำแพงเพชร 2
นายภคพงศ์ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ว่าปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนก.ค.61) การดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา มีความก้าวหน้ารวม 99.26%
สำหรับการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้น รฟม. ได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้เป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า บริหารจัดการการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.60 ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้า 53.58%
โดยช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน รฟม. ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว สำหรับช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง มีความก้าวหน้า 55.29% และช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ มีความก้าวหน้า 48.54% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้โครงการมีความพร้อมสำหรับเปิดให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เปิดเดินรถช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายในเดือน ก.ย.62 และระยะที่ 2 การเปิดเดินรถ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ภายในเดือน มี.ค.63
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 21.5 กม. และโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 5.4 กม. มีสถานียกระดับ 15 สถานี และสถานีใต้ดิน 4 สถานี มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) ที่สถานีหัวลำโพงไปบางแค และที่สถานีบางซื่อไปท่าพระ
โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม หรือ Interchange Station ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระคร่อมอุโมงค์ทางลอดและสะพานข้ามแยกท่าพระ มี 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นออกบัตรโดยสาร (ชั้นจำหน่ายตั๋ว) ชั้นชานชาลาของสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – หลักสอง และชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน – ท่าพระ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบแล้วจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีที่สมบูรณ์และสามารถเดินทางเป็นวงกลมรอบกรุงเทพมหานครได้ ถือเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเมื่อแล้วเสร็จทั้งเส้นทางจะวิ่งเป็นวงกลมเหมือนสายเจอาร์ ยามาโนเตะ ของญี่ปุ่น ที่เดินรถเป็นวงกลมเช่นกัน และเชื่อว่าเมื่อเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งเส้นแล้วจะช่วยแก้ปัญหาจราจรให้คนกรุงเทพเพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่นด้วย ได้แก่ สายสีเขียว สายสีม่วง สายสีแดง และสายสีส้ม
*รฟม.คาดเปิดประมูล PPP สายสีม่วง-สายสีส้มต้นปี 62
ผู้ว่าการ รฟม.คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่าเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม (ฝั่งตะวันตก) เงินลงทุนประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท และงานเดินรถทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทางรวม 39.6 กม.ที่ใช้วงเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร มูลค่าเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาทภายในปีนี้ และคาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงต้นปี 62
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ 2 โครงการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เสนอกลับมา รฟม.ให้ทบทวนประมาณการตัวเลขใหม่ให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน