นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ายอดขายในปีนี้จะทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4.4 พันล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 2.8 พันล้านบาท และช่วงครึ่งหลังของปี 61 บริษัทยังคงเดินหน้าเปิดโครงการใหม่อีก 5-6 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3.1-3.6 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค.นี้บริษัทจะเปิดโครงการใหม่ 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 600 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวย่านสามพรานขนาด 50-60 ยูนิต มูลค่าโครงการ 300 ล้านบาท และโครงการทาวน์โฮมทำเลกรุงเทพฯตอนเหนือ มูลค่าโครงการ 300 ล้านบาท และในช่วงไตรมาส 4/61 จะเปิดโครงการใหม่อีกราว 3-4 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 2.5-3 พันล้านบาท ทั้งโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม
การเปิดโครงการใหม่ในปีนี้จะยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย 8-10 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 4.5-5 พันล้านบาท โดยครึ่งปีแรกเปิดขายไปแล้ว 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ โดยที่การพัฒนาโครงการเน้นด้าน CRM และ Service Mind
นอกจากนี้เตรียมรุกไปข้างหน้าด้วยการทำตลาดเชิงรุกทั้ง Online Marketing และ Offline Marketing ด้วยการเลือกสื่อและเครื่องมือที่เหมาะสมกีบไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าและทำเล อีกทั้งเพิ่มงบประมาณในส่วนของ e-Marketing เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เฉพาะเจาะจง ซึ่งช่วยให้การแข่งขันทางการตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนในแง่ของรายได้ บริษัทคาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 4 พันล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมีรายได้แล้ว 2.08 พันล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีหลังจะทยอยรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาทั้งหมด 1.1 พันล้านบาท ซึ่งมาจากโครงการแนวราบทั้งหมด ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างถึงการโอนราว 4 เดือน ประกอบกับบริษัทมีสต็อกโครงการในมือพร้อมทยอยขายอย่างต่อเนื่องอีก 1 พันล้านบาท
นายชูรัชฎ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อของลูกค้าอยู่ในระดับ 20-25% ทรงตัวจากครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทให้คำปรึกษา แนะนำ และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในหลายๆ ระดับราคาในทำเลนั้นๆ เพื่อรองรับลูกค้าทุกกลุ่มที่มีความต้องการ
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 61 จะอยู่ที่ราว 4-4.5% จากปัจจัยหนุนของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อีกทั้งเริ่มสัญญาณการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
แต่อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะแม้จะมีการขยายตัวได้ แต่ยังกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงเป็นปัจจัยที่ฉุดกำลังซื้อในประเทศ และความเสี่ยงจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อเช่นเดียวกัน
ส่วนปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าระหว่างประเทศ หากลุกลามไปมากอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้