CHAYO ศึกษาลงทุนอสังหาฯแนวรถไฟฟ้าจากที่ดินในมือคาดสรุปปลายปีนี้,ซื้อหนี้เข้าพอร์ตอีก 1-2 พันลบ.ก่อนสิ้นปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 15, 2018 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทมีที่ดินในมือที่มีศักยภาพหลายแปลงในทำเลที่ไม่ไกลจากรถไฟฟ้า จึงเห็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าจะสรุปการลงทุนภายในปลายปีนี้ ซึ่งหากจะเข้าลงทุนก็มีแหล่งเงินทุนที่รองรับไว้แล้ว อาทิ การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและการออกเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังปี 61 บริษัทเชื่อว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหนี้จากสถาบันการเงินจำนวน 3-4 แห่ง รวมมูลค่าหนี้ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นปี เป็นไปตามแผนงานที่ระบุว่าปี 61 จะเข้าซื้อหนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันซื้อได้แล้ว 8,600 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายรายได้ยังคงมั่นใจว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% แน่นอน

ด้านมูลหนี้คงค้าง ณ ไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 37.25 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประมาณ 35.34 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 1.91 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ค.61 บริษัทได้เซ็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร มูลค่า 7,951 ล้านบาท จากธนาคารยูโอบี โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมากกว่า 60% ของพอร์ต ทั้งนี้บริษัทวางแผนจะใช้ระยะเวลาบริหารหนี้ 5 ปี โดยในไตรมาส 2/61 บริษัทเริ่มรับรู้รายได้ได้แล้วบางส่วน และจะเริ่มทยอยรับรู้ในไตรมาส 3/61 และ 4/61 ต่อไป

และเมื่อเดือน ก.ค.61 บริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ "ชโย แคปปิตอล จำกัด (เดิม ชื่อบริษัทชโย เงินกู้) เพื่อให้บริการปล่อยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อนาโน และพิโก ไฟแนนซ์ เพื่อเสริมบริการใหม่ให้ลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่ เพื่อให้บริการครบวงจรทางด้านการเงิน และได้เปลี่ยนชื่อ ชโย คอลเซ็นเตอร์ เป็น ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส รองรับวัตถุประสงค์ธุรกิจที่เพิ่มการให้กู้เงินโดยรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ คาดเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 4/61 ซึ่งจะทำให้ปีหน้าการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน

"กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจปล่อยสินเชื่อคือพนักงานประจำ ทั้งบริษัทเอกชนและรัฐบาล ลูกจ้างประจำ หรือลูกค้าเดิมที่มีธุรกรรมกับบริษัทฯ เนื่องจากมองเห็นความต้องการและศักยภาพของลูกค้า ขณะที่จุดแข็งของบริษัทฯ คือความชำนาญในการเก็บและปล่อยสินเชื่อ จึงมั่นใจว่าธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ จะได้รับการตอบรับที่ดี โดยเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทจะผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวมปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ตามเป้าหมายที่อย่างแน่นอน" นายสุขสันต์ กล่าว

นายสุขสันต์ กล่าวเพิ่มว่า ภาพรวมของสินเชื่อทั้งระบบในปี 61 คาดว่าภาคธนาคารจะมียอดปล่อยอยู่ที่ 14-15 ล้านล้านบาท และคาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น่าจะอยู่ที่ 3% หรือราว 4.2-4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่มีไม่หลักประกันประมาณ 1.0 แสนล้านบาท และอีกประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้บริษัทเข้าไปซื้อหนี้ได้เพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้ราว 500-600 ล้านบาท จะซื้อพอร์ตหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร ซึ่งตั้งเป้าซื้อมูลหนี้เข้ามาบริหาร 10,000 ล้านบาท โดยมูลหนี้ที่อยู่ภายใต้การลงทุนและการบริหารของบริษัท ณ สิ้นปี 61 คาดว่าจะอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 60 อยู่ที่ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 2/61 บริษัทมีรายได้รวม 70.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.66 ล้านบาท หรือ 36.15% จากงวดเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิ 24.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.80 ล้านบาท หรือ 48% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยอัตรากำไรขั้นต้นที่ 69.7% และอัตรากำไรสุทธิที่ 34.20% ขณะที่กำไรสุทธิครึ่งแรกปี 61 อยู่ที่ 38.52 ล้านบาท ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 66.30% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 32.00%

สาเหตุที่ทำให้รายได้รวมและกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาจากรายได้จากการขายหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในไตรมาสที่ 2 และการเริ่มรับรู้รายได้ของพอร์ทสินเชื่อ UOB ที่เพิ่งซื้อเข้ามา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ