นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พริมา มารีน (PRM) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานของ PRM ในครึ่งปีหลัง มีเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มรายได้และการทำกำไรขั้นต้นให้ดียิ่งขึ้น โดยบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเมินว่ากลุ่มธุรกิจเรือขนส่งฯ จะยังมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น ซึ่งเป็นผลจากการเข้าลงทุนถือหุ้นในบริษัท Big Sea จำนวน 70% ที่จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงานอย่างชัดเจน และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของเรือขนส่งภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU เชื่อว่าหลังจากได้ปรับลดจำนวนเรือลง 1 ลำ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มอัตราการใช้งาน จะช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจนี้ให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนธุรกิจเรือ Offshore คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หากการยื่นประมูลสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยมีความชัดเจน จะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการเรือจะยังมีอัตราการเติบโตที่ดีตามแผนขยายธุรกิจของบริษัทฯ อย่างแน่นอน
"เรามั่นใจว่าในครึ่งปีหลังบริษัทจะเติบโตได้ดีหลังจากที่ได้ปรับพอร์ตกองเรือให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับภาวะตลาด รวมถึงการเข้าซื้อ Big Sea ที่สามารถรับรู้รายได้ทันที และยังเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจเรือขนส่งฯ ที่มีแนวโน้มปริมาณความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น จึงมั่นในว่าด้วยแผนงานของเราในปีนี้ จะผลักดันเป้าหมายปีนี้ให้สามารถเติบโตได้ตามแผน" นายชาญวิทย์ กล่าว
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการเรือในแต่ละกลุ่มธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดได้ตามแผนที่วางไว้เป็นอย่างดี โดยมุ่งสร้างรายได้จากการให้บริการ การบริหารจัดการต้นทุน จึงทำให้มีอัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ในไตรมาสนี้ PRM ทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 204.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีกำไรสุทธิ 190.4 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งฯ ทำรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 505.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 187.5% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการขยายกองเรือในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวจำนวน 2 ลำ ในไตรมาส 2/61
รวมถึงการปรับลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงด้วยการปรับเปลี่ยนสัญญาจากการขนส่งรายเที่ยว (Spot) เป็นการขนส่งแบบมีระยะเวลา (Time Charter) เพื่อให้บริการเรือขนส่งฯ ระหว่างประเทศ เป็นผลให้บริษัทฯ สามารถทำรายได้จากการให้บริการและกำไรขั้นต้นในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการเรือที่มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.3% และมีกำไรขั้นต้น 27.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8 เท่า เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU มีรายได้ลดลงจากการปรับลดเรือที่มีอายุมากออกไป เพื่อมุ่งบริหารค่าใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเพิ่มอัตราการใช้งานเฉลี่ยของเรือต่อวันอยู่ในระดับที่มากกว่า 90% ในขณะที่ต้นทุนคงที่ลดลง แต่บริษัทฯ มั่นใจว่าจะส่งผลการดำเนินงานดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ขณะที่กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและปิโตรเคมีเหลวกลางทะเล (ธุรกิจเรือ Offshore) ที่สถานการณ์การยื่นประมูลสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยยังไม่มีความชัดเจนจะยังคงเป็นปัจจัยหลักทำให้รายได้จากธุรกิจกลุ่มนี้ทรงตัว แต่เชื่อว่าเมื่อมีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจเรือ Offshore มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยบริษัทฯ มีความพร้อมในการลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มเติมทันที หากการประมูลสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ
"แม้ธุรกิจของเราจะได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดและอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนจากปัจจัยภายนอก แต่จากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มุ่งปรับปรุงสัดส่วนรายได้และลดต้นทุนการขายและบริการได้อย่างเหมาะสมกับภาวะตลาดที่อ่อนตัวลง จะส่งผลดีต่อธุรกิจของ PRM ในช่วงครึ่งปีหลังให้ปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน" นายชาญวิทย์ กล่าว