นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช.วาระพิเศษว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เป็นผู้มีคุณสมบัติเข้าประมูลคลื่นความถี่ความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ในวันที่ 19 ส.ค.61
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ผ่านร่างประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีหลักเกณฑ์ว่าคลื่นความถี่นั้นต้องไม่ได้ใช้ประโยชน์, คลื่นนำมาใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า, นำคลื่นมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากขึ้น หลังจากนี้ กสทช.จะนำไปไปรับฟังความเห็นสาธารณะ
สำหรับขั้นตอนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ เมื่อนำร่างฯ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว กสทช.จะจัดทำรายงานบทวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่มีองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ แนวทางเรียกคืนคลื่นความถี่, จำนวนคลื่นความถี่แถบความถี่และขนาดคลื่นความถี่, ผู้ได้รับอนุญาต, สถานการณ์การถือครอง, ผู้ได้รับผลกระทบ, กรอบระยะเวลา และประโยชน์ทางสังคมที่ได้จากการเรียกคืน จากนั้นกสทช.จะทำหนังสือแจ้งผู้ถือครองเพื่อเรียกคืนคลื่น แล้วทำหนังสือแจ้งกลับมาที่กสทช.ภายใน 90 วัน บอร์ดกสทช.จะพิจารณาความเห็นจากผู้ถูกเรียกคืนคลื่นแล้วจึงมีมติ
ขณะที่การประเมินมูลค่าคลื่น การทดแทนการชดใช้ และการจ่ายค่าตอบแทนในการคืนคลื่นความถี่ กสทช.จะจ้างสถานบันการศึกษาของรัฐ 3 แห่งในการพิจารณา โดย กสทช.จะนำผลการศึกษามาเฉลี่ยเพื่อกำหนดมูลค่าคลื่นที่เหมาะสม
จากนั้นจะมีการตั้งอนุกรรมการที่มีเลขาธิการ กสทช.เป็นประธาน ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรงการคลัง, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงบประมาณ และสำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นสามารถเสนอความเห็นและข้อโต้แย้งในการเรียกคืนคลื่น
ทั้งนี้ การเรียกคืนคลื่นความถี่ตามประกาศฯนี้จะไม่เกี่ยวกับคลื่นย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (ย่านที่ทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่) เนื่องจากการใช้งานคลื่นความถี่ถูกเขียนไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาต
"กระบวนการทั้งหมดจะทำคู่ขนานกันไปโดยคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการเรียกคืนคลื่นทั้งหมด 120 วัน ทั้งนี้ตามโรดแมพคลื่นที่อยู่ในข่ายทำการศึกษาคือ คลื่นย่าน 2600 เมกะเฮิตรซ์ (จำนวน 90 เมกะเฮิรตซ์ ที่บมจ.อสมท (MCOT) ถือครอง), คลื่น 3400 -3800 เมกะเฮิตรซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26 -28 กิกะเฮิตรซ์ ส่วนคลื่น 400-470 เมกะเฮิตรซ์ อยู่ในแผนแล้วและจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง " นายฐากร กล่าว