นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) คาดว่า บริษัทฯจะสามารถสรุปพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทได้ในราวเดือน ก.ย.นี้ โดยเบื้องต้นบริษัทที่เข้าร่วมลงทุนกับ BTS มี 2 รายคือ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งรวมกลุ่มในชื่อกลุ่ม BSR ขณะเดียวกันรอคำตอบจากกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ รวมทั้งอาจจะมีรายอื่นเข้าร่วมด้วยเพราะมีผู้ซื้อซองประมูลไป 31 ราย
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข TOR โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะต้องดำเนินการในโครงการ 4 อย่าง ได้แก่ 1)ต้องมีประสบการณ์งานโยธาหรืองานก่อสร้างรถไฟ ซึ่งในกลุ่ม BSR มี STEC เป็นผู้รับงานรับเหมาก่อสร้าง 2)ต้องเคยเดินรถไฟความเร็วสูง ที่ความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งบริษัทกำลังเจรจาบริษัทที่เคยเดินรถดังกล่าว 2-3 ราย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการว่าจ้าง 3)ต้องมีประสบการณ์งานระบบเครื่องกลและไฟฟ้า (System Integration) ของรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในส่วนนี้ก็จะว่าจ้างซัพพลายเออร์ และ 4) เคยมีประสบการณ์พัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ก็จะให้บมจ.ยู ซิตี้ (U) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเป็นผู้ดำเนินงาน
ขณะที่เงินลงทุน ตามเงื่อนไข TOR ให้ลงทุนในส่วนทุน (Equity) จำนวน 3 หมื่นล้านบาทนั้น เชื่อว่า กลุ่ม BSR ไม่น่าจะมีปัญหาการระดมเงิน โดยในส่วน BTS มีช่องทางระดมทุนหลายทาง ได้แก่ ออกหุ้นกู้ วอร์แรนต์ เป็นต้น
"กลุ่มเรา (BSR) พร้อมเข้ายื่นประมูลโครงการความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ... คิดว่าเหลือไม่เกิน 3 กลุ่มเข้าร่วมประมูล" นายสุรพงษ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อนึ่ง รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ร ยงานมีเอกชน 31 รายที่เข้าซื้อซองเสนอราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และกำหนดเปิดรับซองเอกสารเสนอราคาในวันที่ 12 พ.ย.61
แหล่งข่าวจาก รฟท. กล่าวว่า ปตท. ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท.ให้มอบอำนาจผู้บริหารในการเข้าเจรจาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ส.ค.) ซึ่งปตท.ได้เจรจาอยู่กับกลุ่มบีทีเอส และ กลุ่มซีพีซึ่งกลุ่มนี้มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เข้าร่วมด้วย ซึ่งหากตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มใด หรือไม่ลงทุนโครงการนี้อย่างไร ก็ต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท