นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA)กล่าวถึงแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในปี 51 ว่า ตราสารหนี้ทุกประเภทจะมีปริมาณการออกเพิ่มขึ้นกว่าปี 50 โดยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเป็นตราสารหนี้ที่มีการออกใหม่มากที่สุด ส่วนภาคเอกชน คาดว่าจะมีปริมาณการออกต่อเนื่องจากปลายปี 50 หรือประมาณ 200 พันล้านบาทสำหรับหู้นกู้ และ 1,600 พันล้านบาท สำหรับ Commercial paper
"การออกุห้นกู้ในปีหน้า น่าจะเน้นเสนอขายในช่วงอายุไม่เกิน 5 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่ยังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนน้อยอยู่ ดังนั้น การจะออกหุ้นกู้ระยะยาวอาจไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเท่าที่ควร และกลุ่มธุรกิจการเงินน่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการออกหุ้นกู้มากที่สุด รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ "นายณัฐพล กล่าว
ขณะที่อัตราผลตอบแทนในปีหน้า เชื่อว่า ยังมีปัจจัยหนุนให้อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นไปได้อีก
สำหรับภาวะในช่วง 11 เดือนของปี 50 นายณัฐพล กล่าวว่า มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังมีความไม่แน่อน ส่งผลให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังแม้ว่าธปท.จะผ่อนคลายมาตการกันสำรอง 30% ด้วยการทำ Fully Hedge แต่ยังไม่เห็นเด่นชัดพอที่จะกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนตราสารหนี้ไทย
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า กรณีที่ธปท.ขอเพิ่มวงเงินออกพันธบัตร 5 แสนล้านบาทเพื่อบริหารสภาพคล่องในระบบการเงินนั้นจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเรื่องอุปทานล้นตลาด และความไม่ชัดเจนว่า ธปท.จะออกพันธบัตรใหม่ช่วงรุ่นอายุเท่าไหร่
ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ธปท.ออกพันธบัตรใหม่ประมาณ 4,034.30 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 300% จากปี 49 รองลงมา คือ Commercial Paper มีมูลค่า 1,518.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% ส่วนตั๋วเงินคลังมีปริมาณการออกลดลงจากปีก่อน โดยมีมูลค่า 572.73 พันล้านบาท ลดลง 36% เนื่องจากกระทรวงการคลังหันไประดมทุนผ่านพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น
ส่วนหุ้นกู้เอกชน มีปริมาณการออกเพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 183.12 พันล้านบาท ซึ่งกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่มีการออกตราสารหนี้มูลค่าสูงสุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ และมีอายุเฉลี่ย 4 ปี ขนาดหุ้นกู้ที่ออกในช่วงปีนี้ที่มีปริมาณการออกรวมสูงสุด พบว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีปริมาณการออกสูงสุด มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท รองลงมา บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บมจ.ปตท. (PTT) ตามลำดับ
ด้านการซื้อขายในตลาดรองตราสารหนี้ ตัวเลขตั้งแต่ต้นปี-18 ธ.ค. 50 มีปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น 17,225.75 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 148% จากช่วงเดียวกันของปี 49 โดยมีการทำธุรกรรมแบบ Outright กว่า 80% เป็นการซื้อขายในพันธบัตร ปตท. ซึ่งมีการออกประมูลค่อนข้างสูง
ขณะที่การทำธุรกรรมแบบ Financing มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมาก และกว่า 90% ของมูลค่าการทำธุรกรรมแบบ Financing มาจากการทำธุรกรรมซื้อคืน ธปท.
"อัตราผลตอบแทนพันธบัตร รัฐบาล ณ สิ้นเดือนพ.ย. 50 แม้ว่าจะปรับลดลงจากสิ้นเดือน ธค. 49 แต่ความชันของเส้นปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยพันธบัตรระยะกลางถึงยาว ขยับตัวขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าระยะสั้น" นายณัฐพล กล่าว
ปัจจัยที่ส่งผลให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปลายปีเป็นเช่นนี้ เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ชัดเจน โดยตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังประสบปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีเสถียรภาพนั้น ยังเป็นที่กังขาว่า ธปท.ไม่น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์
--อินโฟเควสท์ โดย ตลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--