โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.เคมีแมน (CMAN) มองผลประกอบการไตรมาส 3/61 จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่กว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ ประกอบกับการทำกำไรที่จะปรับตัวดีขึ้นด้วย หลังจากการผลิตในโรงงานที่พุทธบาทที่มีต้นทุนสูงลดลง ขณะที่ยอดขายของหินปูนได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 2/61 ที่ผ่านมาแล้ว
และ CMAN รายงานกำไรไตรมาส 2/61 เติบโตขึ้น จากราคาขายเฉลี่ยนำโดยปูนควิกไลม์ (QL) และไฮเดรตไลม์ (HL) ดำเพิ่มขึ้น 5-6% เทียบช่วงไตรมาส 1/61 ตามแนวโน้มค่าเงินบาท และปริมาณขายที่เติบโตจากไตรมาส 1/61 อยู่ 21% จากแร่หินปูน (LS) เป็นหลัก และคาดว่ายอดขายจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/61
ราคาหุ้น CMAN เคลื่อนไหวรอบบ่ายวันนี้ อยู่ที่ 3.20 บาท ลดลง 0.02 บาท(-0.62%) สวนทาง SET บวก 0.49%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ทิสโก้ ซื้อ 6.00 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 4.00 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 4.12
นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ คาดผลประกอบการ CMAN ในช่วงไตรมาส 3/61 ของ CMAN จะปรับตัวดีขึ้นตามยอดขายเพิ่มขึ้น และได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/61 ที่ 31.32 บาท และไตรมาส 2/61 ที่ 31.59 บาท ประกอบกับการทำกำไรที่จะปรับตัวดีขึ้นด้วย หลังจากการผลิตในโรงงานที่พุทธบาทที่มีต้นทุนสูงนั้นต้นทุนปรับลดลง
ทั้งนี้ คาดกำไรในปี 62-63 จะเพิ่มขึ้น 27% และ 17% โดยได้รับแรงหนุนจากการเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เตาเผาใหม่ (KK4) และโรงงาน 2 แห่งในอินเดีย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 35% จาก 0.9 ล้านตันต่อปี เป็น 1.225 ล้านตันต่อปีในปีหน้า
"เรายังคงมุมมองเชิงบวกด้วยทิศทางผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และปีหน้าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 35% ขณะที่ราคาหุ้นเองปรับตัวลดลงมามี PER ที่ 13.9 เทียบกับการเติบโตที่มีต่อเนื่อง จึงยังคงคำแนะนำซื้อ "นักวิเคราะห์ กล่าว
ขณะที่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ยังคงมีมุมมองเชิงบวกจากอานิสงส์ค่าเงินบาที่อ่อนค่า โดยค่าเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 3/61 อยู่ในช่วง 33.00-33.60 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/61 ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วง 33.6-33.9 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ยอดขายของหินปูนได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 2/61 ที่ผ่านมาแล้วที่มีกำลังการผลิต 2 ล้านตัน/ปี และคาดว่ายอดขายจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/61
ทั้งนี้ ไซโลขนาดใหญ่ (ความจุรวม 12,000 ตัน) คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/61 ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดลงได้ ประมาณ 8-10 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ คาดว่าโรงงานพระพุทธบาท จะเดินเครื่องเพียง 1 จาก 2 ยูนิต เนื่องจาก ต้นทุนก๊าซธรรมชาติมีราคาสูงกว่าต้นทุนถ่านหินที่โรงงานแก่งคอย ในขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มลดลงในไตรมาส 4/61 เนื่องจากบริษัทฯอยู่ระหว่างดำเนินการรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นเป็นเงินกู้ระยะยาว
ด้าน บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 2/61 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 58 ล้านบาท เติบโต 56% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 และเติบโต 209% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากยอดขาย 647 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบไตรมาส 1/61 และเติบโต 26% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งจากราคาขายเฉลี่ยนำโดยปูนควิกไลม์ (QL) และไฮเดรตไลม์ (HL) เพิ่มขึ้น 5-6% เทียบช่วงไตรมาส 1/61 ตามแนวโน้มค่าเงินบาท และปริมาณขายที่เติบโตจากไตรมาส 1/61 อยู่ 21% จากแร่หินปูน (LS) เป็นหลัก
แต่ภาพรวมอัตรากำไรขั้นต้นลดลง จากการใช้กำลังผลิตของโรงงานพระบาทน้ำพุรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯสามารถบริหารจัดการต้นทุนการเงินได้ดี ซึ่งสามารถลดดอกเบี้ยจ่ายลง 6 ล้านบาทได้ตามแผน หนุนให้กำไรเข้าเป้า
นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าไตรมาส 3/61 กำไรจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาทที่เข้ามาช่วยหนุน ซึ่ง CMAN ยังเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์โดยตรงบนแนวโน้มบาทที่อ่อนค่า