BCPG คาดมีดีลผลิตไฟฟ้าธุรกิจ retail ปีนี้ราว 20-30 MW จากปัจจุบันที่มีกว่า 12 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 20, 2018 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BPCG) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ retail ซึ่งเป็นทำตลาดกับผู้บริโภครายย่อยผ่านการทำโซลาร์รูฟท็อปนั้น คาดว่าจะได้รับดีลผลิตไฟฟ้าในปีนี้ราว 20-30 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีกว่า 12 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากการเป็นผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 12 เมกะวัตต์ และโครงการนำร่องพื้นที่ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ของบมจ.แสนสิริ (SIRI) จำนวน 635 กิโลวัตต์ โดยในส่วนของโครงการ T77 เตรียมจะเปิดโครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ระหว่างผู้บริโภคภายในชุมชนในวันที่ 22 ส.ค.นี้

โครงการ T77 จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 4 ราย โดยเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน 3 ราย ได้แก่ คอมมูนิตี้มอลล์ ,โรงเรียน และคอนโดมิเนียม ส่วนอีก 1 รายจะเป็นผู้ซื้อ คือ โรงพยาบาลฟัน และมีบริษัทเป็นผู้บริหารโครงการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะนับเป็นโครงการแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีการนำเทคโนโลยี Blockchain สื่อกลางในการทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัล มาใช้นำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ระหว่างผู้บริโภคภายในชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่สามารถบริหารจัดการการซื้อขายไฟฟ้าให้มีราคาต่ำกว่าราคาขายปลีกไฟฟ้าราว 15% โดยบริษัทและ SIRI มีเป้าหมายจะดำเนินการบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะเดียวกันนี้อีกในหลายโครงการ รวม 2 เมกะวัตต์ ภายในปี 63

"โครงการ T77 เป็นโครงการนำร่อง โมเดลธุรกิจไม่ใช่การขายไฟแล้ว แต่เป็นเรื่องการบริหารพลังงาน ซึ่งต้องรอเวลา ต่อไปเราไม่ต้องนั่งนับว่าจะติดรูฟท็อปกี่เมกะวัตต์ เราจะดูว่า energy ที่เราบริหารมีกี่ยูนิต ตอนนี้ทุก ๆ ครั้งที่ทำมันคุ้มทุน แต่ scale ไม่ใหญ่"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เริ่มเจรจากับผู้ประกอบการทั้งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ retail ดังกล่าว รวมถึงมองโอกาสการลงทุนในพื้นที่หมู่เกาะภายในประเทศ ที่มีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก ขณะที่ค่าไฟฟ้าตามหมู่เกาะค่อนข้างแพง

ขณะเดียวกันการที่มีพันธมิตรอย่าง พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ จากออสเตรเลีย เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มตัวกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Peer-to-Peer ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น ก็มองโอกาสที่จะขยายไปยังภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน โดยมองประเทศที่มีศักยภาพทั้งมาเลเซีย เวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะที่ยังใช้ดีเซลในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้านั้น ก็ทำให้มีโอกาสที่จะเข้าไปผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการซื้อขายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ด้วย

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้นั้น บริษัทคาดว่าจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตมากกว่า 10% จากปีก่อน ขณะที่ความคืบหน้าการขายโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Nikaho และ Nagi ขนาดกำลังผลิตรวม 27.6 เมกะวัตต์ ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น มูลค่าราว 3,185 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้

ปัจจุบัน BCPG ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าใน 2 รูปแบบ ได้แก่ wholesale ที่เป็นรูปแบบการสร้างโรงไฟฟ้าขายเข้าระบบ ทั้งในส่วนของพลังงานลม ,โซลาร์ ,พลังงานใต้พิภพ และอื่น ๆ และ retail ซึ่งเป็นทำตลาดกับผู้บริโภครายย่อย ผ่านการทำโซลาร์รูฟท็อปในประเทศในรูปแบบต่าง ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ