นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะผู้แทน กฟน. พร้อมด้วย นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BPCG) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและการบริหารจัดการพลังงาน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่มีความเห็นร่วมกัน
นายชัยยงค์ กล่าวว่า กฟน.เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานทดแทน และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ กฟน.จะมีบทบาทในการร่วมศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันพัฒนาในพื้นที่จำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. เช่น โครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะสีเขียว T77 บนถนนสุขุมวิท โครงการความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และโครงการความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจดิจิทัลพลังงาน
โดยทั้งหมดมีการกำหนดกรอบความร่วมมือในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้ กฟน.ได้ผลการศึกษา และสามารถเตรียมพร้อมในการควบคุมจัดการเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ด้วยระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้บริการประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างครบวงจร
นายชัยยงค์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือครั้งนี้ทำให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งหากศึกษาแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ กฟน.ก็อาจจะมีการลงทุนในอนาคต ในลักษณะของการมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการภาคประชาชนมาเก็บไว้ เพื่อรอจำหน่ายหน่ายต่อในอนาคตในราคาไม่แพง ซึ่งนับเป็นการบริหารจัดการพลังงานอย่างหนึ่งในอนาคต รวมถึงกฟน.อาจเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยได้เองในอนาคตด้วย
ด้านนายบัณฑิต เปิดเผยว่า โครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะสีเขียว T77 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบีซีพีจีกับ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการทดลองระบบในวันที่ 22 ส.ค.นี้ กฟน.ได้ให้การสนับสนุนในฐานะหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนองค์กร และมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมเพื่อให้บริการประชาชนด้วยแนวคิด smart metro ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายการจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างสมดุลการใช้พลังงานที่สามารถผลิตได้เองภายในโครงการกับพลังงานที่มาจากสายส่งไฟฟ้าในเครือข่ายของ กฟน.
นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆ ที่จะร่วมกันพัฒนาในพื้นที่จำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. ด้วยการต่อยอดสู่การพัฒนาด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงนำ Digital Platform มาช่วยในการบริหารจัดการทางด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นผลดีต่อประเทศในภาพรวมระยะยาวต่อไป
"การที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ากระจัดกระจายทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่ดีที่ต่อไปไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ สัดส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนต้องดูในเชิงเทคนิคว่าจะสามารถ connect กับระบบได้แค่ไหน เราไม่ได้พูดแค่โซลาร์รูฟอย่างเดียว เราพูดถึงโซลาร์ฟาร์ม ชีวมวล ขยะ อะไรที่เป็น distributed energy ที่กระจัดกระจายเรื่องนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่การไฟฟ้าต้องพิจารณาอย่างเข้มข้น ส่วนเรื่องความมั่นคง บางครั้งบางคราวหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งก็ต้องใช้ไฟหลวง ความมั่นคงของประชาชน เขาผลิตเองใช้เอง ถ้าไม่พออย่างไรก็ต้องซื้อไฟหลวง ภาคประชาชนตอนนี้ก็พูดได้ว่ามีความมั่นคงไม่ได้แตกต่างจากเดิม แต่สิ่งที่ดีขึ้นจากเดิมคือมีทางเลือกมากขึ้น"นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าใช้เองผ่านแนวคิดโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะออกรูปแบบที่ชัดเจนภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ภาคประชาชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองหากมีเหลือก็สามารถขายเข้าสู่ระบบได้ในราคาที่สมเหตุสมผล ส่วนในอนาคตหากรัฐบาลจะจัดจัดเก็บค่าอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) ก็เป็นเรื่องของนโยบายที่ผู้ประกอบการก็พร้อมจะปฏิบัติตาม