นายเผ่าพิทยา สมุทรกลิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการเงิน บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจรายได้ปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 10-15% ซึ่งเป็นการเติบโตตามปริมาณขายน้ำที่เพิ่มขึ้นเป็น 109 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีก่อน โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทสามารถขายน้ำได้แล้ว 53 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ทีเอส 4 รวมถึงความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในกลุ่มนิคมอุสาหกรรมทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 520 เมกะวัตต์ (MW) จากปีก่อนที่ 478 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกันบริษัทยังได้รุกตลาดโซลาร์รูฟท็อปในรูปแบบของการขายไฟฟ้าให้กับเอกชน (Private PPA) ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ 4.8 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเจรจากับโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งกำลังการผลิตรวมราว 10 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปีนี้
ส่วนการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช แบ่งเป็นโครงการ ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอ็นจีดี 2 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้ลูกค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ภายในไตรมาส 3/61 และโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4 คาดว่าจะแล้วเสร็จและจำหน่ายก๊าซฯได้ภายในปี 62
"ปีนี้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เข้ามารับรู้รายได้เต็มปี และมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมด้วย ขณะที่ธุรกิจขายน้ำเองก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังมีธุรกิจใหม่อย่างการขายปลีกก๊าซธรรมชาติที่จะเข้ามาเพิ่มเติม เราจึงเชื่อมั่นว่ารายได้จะเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน เพราะธุรกิจเราค่อนข้างมีเสถียรภาพมีความต้องการใช้ตลอดเวลา"นายเผ่าพิทยา กล่าว
สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะอยู่ที่ 34.7-35% หลังจากครึ่งปีแรกทำได้ 34.66% ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่ 33.14% โดยบริษัทคาดว่าผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง ประกอบกับบริษัทได้มีการบริหารจัดการต้นทุนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนทางด้านการเงิน จากการที่ได้ออกหุ้นกู้จำนวน 5,000 ล้านบาท ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยลดลงราว 1.5%
นายเผ่าพิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเติบโตในปี 62 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 33 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงต้นปีจำนวน 30 เมกะวัตต์ และในช่วงปลายปีอีก 3 เมกะวัตต์ และการเติบโตของโซลาร์รูฟท็อป ในรูปแบบของ Private PPA จะมีอีกมากกว่าในปีนี้เนื่องจากในนิคมอุตสาหกรรมที่ทางบริษัทมีความเชี่ยวชาญมีพื้นที่บนหลังคามากถึง 2 ล้านตารางเมตร ซึ่งสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้สูงถึง 200 เมกะวัตต์
ขณะที่ WHAUP มีบริษัทแม่คือ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA)จึงทำให้บริษัทเข้าถึงกลุ่มลูกค้าโรงงานในอุตสาหกรรมได้มากกว่า ประกอบกับบริษัทมีต้นทุนการก่อสร้างที่ค่อนข้างดี จึงเชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้
พร้อมกันนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อที่จะเข้าลงทุนโครงการจำหน่ายน้ำและโครงการโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงต้นปี 62 นอกจากนี้บริษัทยังมองหาการเข้าลงทุนในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม โดยจะคำนึงถึงความเสี่ยงทางด้านกฎหมายเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนที่อาจจะเกิดขึ้นได้