(เพิ่มเติม) CEO ใหม่บลจ.ไทยพาณิชย์ คาด AUM ปีนี้ทรงตัวจากปีก่อนที่ 1.4 ล้านลบ.พร้อมดัน 3 ปีโตเฉลี่ยปีละ 15-20%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 21, 2018 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) คาดในปี 61 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ใกล้เคียงที่ 1.4 ล้านล้านบาทปีก่อน โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย.61 AUM อยู่ที่ 1.43 ล้านล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นการลงทุนตราสารหนี้ 70% ส่วนที่เหลือ 30% เป็นการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่ หุ้นทั้งในและต่างประเทศ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเน้นการบริหารที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

ขณะที่ตั้งเป้าภายใน 3 ปีนี้จะเพิ่ม AUM ประมาณ 15-20% และจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มเป็น 50%

สำหรับธุรกิจกองทุนรวม (รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน) ปัจจุบันมีมูลค่า 9 แสนล้านบาท คาดว่ามูลค่าจะเติบโตทะลุ 1 ล้านล้านบาทในช่วง 3 ปีข้าหน้า หรือมีสัดส่วนราว 66-70% ขณะที่ฐานลูกค้ากองทุนรวมเติบโตช้าลงในช่วง 2 ปีนี้

ด้านกองทุนส่วนบุคคล คาดว่าจะเติบโตเร็วในปีนี้จนถึงต้นปีหน้า จากที่มีความต้องการของลูกค้าสถาบันอย่างมาก ทำให้คาดว่าในช่วง 3 ปีนี้เติบโตเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 10% จาก 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตปีละ 10-15% ในช่วง 3 ปีนี้ จากปัจจุบันมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท

"เป้าหมาย 3 ปีข้างหน้า จะไม่ได้เน้นเรื่อง AUM และรายได้เท่าไหร่ แต่จะให้ความสำคัญความต้องการลูกค้าเป็นหลัก ทำอย่างไรย้ายลูกค้า Fixed Income มาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงโดยสอดคล้องกับความต้องการลูกค้า...สินทรัพย์เสี่ยงของเรามีค่อนข้างต่ำ"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นลำดับแรก โดยมีแนวทางพัฒนาการปฏิบัติทุกด้านให้เกิดประสิทธิภาพทั้งผลิตภัณฑ์ การบริการและบุคลากร เพื่อเป้าหมายในการเป็น The Most Trusted Asset Management Company หรือ บลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด รวมทั้งการสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการบริหารกองทุนภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างผลการดำเนินงานกองทุนระดับ 5 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ และจะยังคงรักษาคุณภาพเช่นนี้ไว้พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะขยายผลงานติดดาวไปสู่สินทรัพย์ทุกประเภท อีกทั้งยังรักษาความเป็นผู้นำนวัตกรรมในการลงทุนหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกแก่นักลงทุนที่มีความต้องการลงทุนที่ซับซ้อนมากขึ้น

นอกจากนั้น ยังเน้นการพัฒนาด้านบริการเพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดบัญชีครั้งแรกผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นการสร้างความสะดวกในการลงทุน รวมถึงมีการแนะนำกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งยังรวมถึงแนะนำให้ปรับพอร์ตอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ภายใต้การคาดการณ์ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ชัดเจนเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การลงทุนที่ดี

"เราได้มีการพัฒนาศักยภาพพนักงาน โดยการปรับสัดส่วนของพนักงานที่ทำหน้าที่บริหารกองทุน และพบปะลูกค้าเป็น 75% ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 58% เพื่อลูกค้าจะได้รับการดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดในการลงทุนเพื่อนำไปสู่อิสระทางการเงินในระยะยาวอย่างแท้จริง และได้มีการวางเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนราย เป็น 1.5 ล้านราย ภายใน 3 ปี โดย 70% - 80% มาจากช่องทาง Digital บน SCB Easy" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นายณรงค์ศักดิ์ คาดว่า สิ้นปีนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) จะอยู่ที่ 1,800 จุด โดยมองว่าช่วงครึ่งปีหลังตลาดหุ้นไทยน่าจะ Outperform กว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค และกลุ่มประเทศ Emerging Market เพราะการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศช่วงที่เหลือของปีนี้ นายณรงค์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ตลาดหุ้นยังลงทุนได้แม้ความผันผวนยังสูง โดยตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วได้รับอานิสงส์จากการบริโภคภายในประเทศและการจ้างงานที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายการคลัง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่รัฐบาลปรับลดภาษีทั้งภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล ซึ่งการที่เศรษฐกิจขยายตัวดีก็จะส่งผลบวกต่อเนื่องถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนให้เติบโตดีกว่าคาดในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังมีความผันผวนสูงและขาดปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ในปีนี้มาจากความกังวลจากการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน และนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้นของสหรัฐฯ การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากสินทรัพย์ในภูมิภาคอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกังวลทั้งในเรื่องนโยบายการเงินและสงครามการค้าได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นค่อนข้างมากแล้ว จะเห็นได้จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเกิดใหม่กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของตลาดหุ้นเอเชียได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว

ส่วนตลาดหุ้นไทยมองว่ายังมีโอกาสปรับตัวผันผวนในขาขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังเติบโตต่อเนื่องหรือฟื้นตัวจากฐานต่ำในอดีตที่จะช่วยเสริมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะได้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในอนาคต ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบรถยนต์ การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยที่ฟื้นตัวดีจากปีก่อน รวมไปถึงการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าส่งผลดีต่อแนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร

ด้านตราสารหนี้ควรเน้นลงทุนระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนตราสารหนี้โลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ ของโลก มีแนวโน้มดำเนินนโยบายตึงตัวต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัว และราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโลกยังไม่น่าจูงใจเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ไทยเนื่องจากมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูง

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง จากมาตรการภาษีการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะกับจีน และอาจขยายวงกว้างไปสู่ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เช่น ยุโรป และแนวโน้มการจ้างงานที่ตึงตัวขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การชะลอวงเงิน QE ของธนาคารกลางยุโรป จะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงเปรียบเทียบกับช่วงที่สภาพคล่องทางการเงินทรงตัวในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ