บล.เอเซีย พลัส มองกลุ่มแบงก์ของไทยรับผลกระทบจำกัดจากวิกฤตค่าเงินตุรกีเหตุธุรกรรมน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 21, 2018 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ในกลุ่มบมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) เปิดเผยว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยจะได้รับผลกระทบจำกัดจากปัญหาค่าเงินตุรกี เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีการลงทุนในตุรกีน้อยมาก ซึ่งการลงทุนดังกล่าวหมายถึงการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้/พันธบัตรรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์บานปลายทำให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปประสบปัญหาจริง อาจกระทบต่อภาคส่งออกและนำเข้าของประเทศที่เป็นคู่ค้ากับยุโรป รวมถึงไทย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องส่งคำสั่งซื้อสินค้าผ่านธนาคารคู่ค้าทั้ง 2 ฝั่ง (Correspondent Bank) โดยการเปิด Letter of Credit (L/C) กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศผู้นำเข้า

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ไปเปิดสาขา ที่กำหนดให้ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิ (Reserved Required Ratio :RRR) นั้น พบว่าสาขาธนาคารพาณิชย์ไทย กระจายตัวอยู่ในเอเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นหลัก

สำหรับราคาหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ที่ปรับลงไปราว 3.6% เมื่อวานนี้ มีการนำไปโยงกับประเด็นของตุรกี ขณะที่ TMB ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และปฏิเสธว่าไม่มีธุรกรรมการลงทุนใด ๆ ยกเว้นธุรกรรมการให้สินเชื่อ รับซื้อลดตามสัญญา L/C ในวงเงินน้อยกว่า 1% ของสินเชื่อรวม 6.54 แสนล้านบาท ณ เดือน ก.ค.และลูกค้าที่นำ L/C มาขายลดลง เป็นบริษัทย่อยของไทย ที่เป็นบริษัทข้ามชาติจึงไม่น่าจะมีปัญหา และสถานะปัจจุบันเป็นหนี้ปกติ ยอดสินเชื่อดังกล่าวจะครบกำหนด ต.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณางบการของธนาคาร 8 แห่ง โดยดูยอดคงค้างหนี้ Trade Financing ที่ปรากฏอยู่นอกงบดุล ซึ่งก็คือ L/C บวกภาระหนี้ตามตั๋วแลกเงินค่าสินค้านำเข้าที่ยังไม่ครบกำหนด มีวงเงินรวม 2.27 แสนล้านบาท แต่ยอดคงค้างดังกล่าวเป็นการค้าขายกับคู่ค้าทั่วโลก ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะตุรกีประเทศเดียว พบว่าไทยมีการนำเข้า-ส่งออก กับตุรกีในปี 60 จำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นส่งออก 4.25 หมื่นล้านบาท และนำเข้า 8.59 พันล้านบาท หรือคิดเป็นน้อยกว่า 1% ของการนำเข้าและส่งออกของไทยรวม

กรณีที่เลวร้ายหากเกิดปัญหาในตุรกีจนทำให้ธนาคารพาณิชย์ในตุรกีมีปัญหา ผลกระทบต่อธนาคารแต่ละแห่ง ขึ้นกับส่วนแบ่งตลาดของสินเชื่อการค้าที่อยู่นอกงบดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ