รายงานข่าวสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 16/2561 วันพุธที่ 22 ส.ค.61 สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาผลสำรวจข้อเท็จจริงเรื่องการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที เพื่อกำหนดเป็นนโยบายในการกำกับดูแลการคิดอัตราค่าบริการต่อไป
ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการสำรวจข้อเท็จจริงดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้เคยมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 ให้ทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 จากเดิมที่ได้มีการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยเปลี่ยนแปลงเป็นการกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีจำนวนรายการส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และในส่วนที่เหลือเป็นรายการส่งเสริมการขายที่สามารถคิดค่าบริการในหน่วยนาทีได้ แล้วให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงในระยะเวลา 6 เดือนว่าประชาชนมีทิศทางหรือแนวโน้มในการเลือกใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามรายการส่งเสริมการขายในแบบใด
สำหรับผลสำรวจครั้งนี้ ซึ่งเป็นการสำรวจในรอบ 14 เดือน พบว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) มีการเสนอขายจำนวนโปรวินาทีลดลงจากจำนวน 67 รายการในไตรมาส 2/60 เหลือ 48 รายการในไตรมาส 2/61 อย่างไรก็ดี แม้จะมีการปรับจำนวนรายการส่งเสริมการขายลดลงก็ตาม แต่จำนวนผู้ใช้บริการโปรวินาทีกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 5.53 ล้านคน เป็น 8.9 ล้านคน ซึ่งบริษัท AWN ได้กำหนดให้โปรวินาทีเป็นรายการส่งเสริมการขายเริ่มต้น ของซิมที่ให้บริการแบบพรีเพด
ส่วนผลสำรวจของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) พบว่ามีการเสนอขายจำนวนโปรวินาทีเพิ่มขึ้นจาก 24 รายการในไตรมาส 2/60 เป็น 27 รายการในไตรมาส 2/61 ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการโปรวินาทีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 10.31 ล้านคน เป็น 11.47 ล้านคน โดยทั้งสองบริษัทมีสัดส่วนรายการส่งเสริมการขายที่เป็นโปรวินาทีมากกว่าร้อยละ 50
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในการคิดอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีของทั้งสองบริษัท ยังคงพบว่ามีการคิดอัตราค่าบริการของโปรวินาทีสูงกว่าโปรนาทีมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาบริษัท AWN มีส่วนต่างของราคาระหว่างโปรวินาทีแพงกว่าโปรนาทีประมาณ 0.20 บาท/นาที ส่วนบริษัท TUC มีส่วนต่างของราคาโปรวินาทีแพงกว่าโปรนาทีประมาณ 0.10 บาท/นาที
ขณะที่ในด้านผลการสำรวจความเห็นและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อนโยบายที่กำหนดให้มีรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 นั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 74 พอใจกับนโยบายดังกล่าว ส่วนร้อยละ 26 ไม่พอใจ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ไม่พอใจนั้น ร้อยละ 35.9 ต้องการให้คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีในทุกรายการส่งเสริมการขาย และร้อยละ 29.91 ต้องการให้เพิ่มสัดส่วนโปรวินาทีในตลาดมากขึ้นเป็นร้อยละ 75
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจความเห็นพบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองใช้รายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการแบบใด ขณะที่ปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจไม่เลือกใช้โปรวินาที ได้แก่ ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งาน อัตราค่าบริการแพงเกินไป และผู้ให้บริการมีการประชาสัมพันธ์รายการส่งเสริมการขายที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีน้อย รวมทั้งช่องทางในการเข้าถึงรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวยังไม่แพร่หลายและเข้าถึงยาก
นอกจากนี้ ในการประชุม กสทช. ครั้งนี้ ยังมีวาระที่สำนักงาน กสทช.เตรียมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงาน (Action Plan) ในการปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการให้บริการภายใต้แผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวและเตรียมการทางเทคนิคเพื่อรองรับการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ 10 หลัก โดยจะขอความเห็นชอบจาก กสทช. ในการนำหมวดเลขหมาย 010 และ 011 จำนวน 20,000 เลขหมายให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์ประจำที่และโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ทดลองทดสอบการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ 10 หลักเป็นระยะเวลา 6 เดือน
ตามแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวนั้น กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายจะต้องเริ่มให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ 10 หลัก และยกเลิกการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ 9 หลัก นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป รวมทั้งพร้อมให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในหมวดเลขหมายใหม่ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดเลขหมายในกลุ่ม 02, 03, 04, 05 และ 07