EGCO ยังคงเป้ากำไรการดำเนินงานปี 61 โตราว 6% แม้ขายโรงไฟฟ้ามาซินลอค แต่ยังมองหาซื้อโรงไฟฟ้าใหม่คาดสรุป 2-3 ดีลปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 23, 2018 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากรายการพิเศษ จะเติบโตราว 6% จากปีก่อน แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะลดลงราว 7.9% มาที่ 4.46 พันล้านบาท หลังจากขายโรงไฟฟ้ามาซินลอคในฟิลิปปินส์ออกไปในช่วงไตรมาส 1/61

แต่ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างมองหาซื้อโรงไฟฟ้าใหม่ที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว รวมถึงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีกำลังผลิตมากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าที่ขายออกไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาโรงไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงในประเทศไทย คาดว่าจะสรุปได้ 2-3 ดีลในปีนี้

"เรากำลังหาการลงทุนใหม่ก็อยากได้มากกว่าที่ขายออกไป ปีนี้มี 2-3 โครงการน่าจะจบได้อยู่ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งโครงการฟอสซิล พลังงานทดแทน รวมถึงโครงการ greenfield"นายจักษ์กริช กล่าว

นายจักษ์กริช กล่าวอีกว่า กลุ่มบริษัทมีเงินสดอยู่ราว 3.5 หมื่นล้านบาท ใช้รองรับการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น และการลงทุนตามแผนงานปัจจุบันที่มีโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนราว 1.2 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องจ่ายเงินลงทุนราว 3 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้ในรูปแบบเงินกู้โครงการ ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 800 ล้านบาท

โดยโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ มีปริมาณซื้อขายตามสัญญาตามสัดส่วนร่วมทุนรวม 544 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี ในลาว ซึ่งมีกำหนด COD ในไตรมาส 4/62 แต่ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้า 94.37% คาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองเดินเครื่องผลิตบางหน่วยได้ก่อนตั้งแต่ปลายปีนี้ ก็จะทำให้สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาบางส่วน

ส่วนโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา ประเทศฟิลิปปินส์ มีความคืบหน้า 89.83% กำหนด COD ได้ในไตรมาส 4/62 และโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ในลาว มีความคืบหน้า 36.56% กำหนด COD ในไตรมาส 2/65

สำหรับกรณีที่มีเหตุน้ำล้นเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาว จนทำให้เกิดอุทกภัยใหญ่ในลาวช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมานั้น ทำให้ทางการลาวมีความเข้มงวดในการก่อสร้างโครงการพลังน้ำมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อโครงการของบริษัท แต่นับเป็นสิ่งที่ดีที่จะต้องดูแลเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และบริษัทก็ยังมองหาโครงการลงทุนใหม่ ๆ ในลาวเพิ่มเติมด้วย

ขณะที่ผลกระทบจากปริมาณฝนที่มากและน้ำท่วม ทำให้โครงการพลังน้ำต่าง ๆ ในลาวหยุดการผลิต ซึ่งรวมถึงโครงการน้ำเทิน 2 ของกลุ่มบริษัทด้วยที่ได้หยุดตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.กว่า 10 วันก็กลับมาเดินเครื่อง แต่เนื่องจากปริมาณฝนที่ยังมากอยู่ก็ได้หยุดเดินเครื่องอีกครั้ง แต่ล่าสุดก็กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เมื่อวานนี้ และคาดว่าจะมีความต่อเนื่องมากขึ้นหลังปริมาณฝนเริ่มลดลง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ในภาพรวมทั้งปีนี้เพราะด้วยปริมาณน้ำที่มากทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่มากเข้ามาชดเชยช่วงที่หยุดไปด้วย

ด้านโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา 3 โครงการนั้น ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้ามากนักทั้งในส่วนของ โรงไฟฟ้าปากแบง ในลาว ,โรงไฟฟ้าสตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยาย (หน่วยที่ 3 และหน่วยที่ 4) ประเทศอินโดนีเซีย และโรงไฟฟ้ากวางจิ ในเวียดนาม เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียด

นอกจากนี้ บริษัทยังรอดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างจัดทำ แต่บริษัทก็ได้มีการนำเสนอโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนอมใน จ.นครศรีธรรมราช อีกราว 700-800 เมกะวัตต์ให้กับรัฐบาลเพื่อพิจารณาในแผน PDP เพื่อเสริมความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งเหมือนกับหลายบริษัทที่ได้มีการนำเสนอโครงการให้กับรัฐบาลเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนจาก PDP ออกมาก่อน

ขณะเดียวกัน บริษัทก็สนใจศึกษาโอกาสการลงทุนใหม่ทั้งในส่วนของโซลาร์ลอยน้ำ ,การผลิตไฟฟ้าซื้อขายกันเองในชุมชน ,การเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลอดจนอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่โรงไฟฟ้าระยองเดิม ในจ.ระยอง ที่หมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว โดยพื้นที่ดังกล่าวมีประมาณ 500 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างเตรียมการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

นายจักษ์กริช คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 จะดีกว่าไตรมาส 2/61 ที่ขาดทุนสุทธิ 2.36 พันล้านบาทเพราะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าจาก ณ สิ้นไตรมาส 1/61 เงินบาทอยู่ที่ราว 31.40 บาท/ดอลลาร์ และเมื่อสิ้นไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 33.4 บาท/ดอลลาร์ ทำให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 5 พันล้านบาท จากการที่มีภาระหนี้สกุลดอลลาร์ราว 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มค่าเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ก็จะทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ดีขึ้น

ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/61 บริษัทมีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ตามกำหนดในช่วงเดือน ต.ค. ใช้เวลาประมาณ 70 วัน

ด้านนายดนุชา สิมะเสถียร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน ของ EGCO กล่าวว่า เงินสดที่กลุ่มบริษัทมีอยู่ราว 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นเงินสดในประเทศ 5.6 พันล้านบาท และอยู่ในต่างประเทศอีกราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หากยังไม่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม หรือยังมีเงินเหลือจากการลงทุนแล้ว ก็อาจจะใช้พิจารณาจ่ายเงินปันผลพิเศษอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ได้มีการจ่ายปันผลรวม 6 บาท/หุ้น ซึ่งในส่วนนี้เป็นเงินปันผลพิเศษ 2.50 บาท/หุ้น หลังจากที่ในไตรมาส 1/61 มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในโรงไฟฟ้ามาซินลอค และบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท

ณ สิ้นไตรมาส 2/61 EGCO มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 26 แห่ง คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้น 4,260 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ,ลาว ,ฟิลิปปินส์ ,อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลากหลายประเภท ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ