บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (BJC) ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ตลอดจนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจหลักของบริษัท ผลประกอบการที่ดีและมีเสถียรภาพ รวมถึงความคาดหหมายที่ว่าบริษัทน่าจะมีผลประกอบการและโครงสร้างเงินทุนที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางประการจากภาระหนี้สินทางการเงินระดับสูงของบริษัท อันเป็นผลจากการก่อหนี้เพื่อซื้อกิจการ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ในปี 2559
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต มีความหลากหลายของธุรกิจและครอบคลุมตลาดที่กว้างขวาง สถานะทางธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่ง สะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจซึ่งประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม) ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจสินค้าด้านสุขภาพและทางเทคนิค
นอกจากประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดหลัก บริษัทยังกระจายสินค้าครอบคลุมไปยังประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ซึ่งรวมถึง ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อพิจารณาถึงขนาดยอดขายจำนวนมาก กำลังการผลิตขนาดใหญ่ และการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงความแข็งแกร่งทางธุรกิจไว้ได้
รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง การที่บริษัทมีธุรกิจหลากหลายประเภทช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ยอดขายของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 เติบโต 4.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 76,093 ล้านบาท หากไม่รวมยอดขายจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ยอดขายของบริษัทยังคงเติบโตในระดับ 2.0%-3.0% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ประมาณ 10,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจหลักมีสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งไว้ได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัท ตลอดจนความได้เปรียบจากประโยชน์จากขนาด (Economies of Scale) และเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมกว้างขวาง
บิ๊กซีเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่ (Hypermarket -- ไฮเปอร์มาร์เก็ต) โดยมีจำนวนสาขามากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2561 บิ๊กซีบริหารไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 143 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้ บิ๊กซียังบริหารซุปเปอร์มาร์เก็ต 60 แห่งและร้านสะดวกซื้อ (มินิบิ๊กซี) อีก 691 แห่ง
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำภายในประเทศในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม อีกทั้งในธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคประเภทกระดาษทิชชูและขนมขบเคี้ยว บริษัทเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายกระป๋องอะลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่ม โดยมีส่วนแบ่งตลาด 41% ของปริมาณการขายรวมในปี 2560 และบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 2 ในธุรกิจขวดแก้ว โดยมีส่วนแบ่งตลาด 36% ของปริมาณการขายรวมในตลาด
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทกระดาษทิชชูและขนมขบเคี้ยวที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรม โดยมีตราสินค้าชั้นนำต่าง ๆ เช่น เซลล็อกซ์ ซิลค์ เทสโต โดโซะ และปาร์ตี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีในประเทศไทย และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภคลงได้บ้าง
ขยายสาขาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ บริษัทเข้าสู่ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่หลังจากซื้อกิจการบิ๊กซีในปี 2559 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะที่แข็งแกร่งในการเป็นบริษัทค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำในประเทศไทยต่อไปได้ จากการขยายสาขาร้านค้าทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 บริษัทวางแผนที่จะขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 8 แห่ง และร้านค้าสะดวกซื้ออีก 150 แห่ง
รายได้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ สมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตระดับปานกลางในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากการเพิ่มจำนวนสาขาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อีกทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายของสาขาเดิม (Same-Store-Sales) ของร้านค้าปลีกสมัยใหม่บิ๊กซีจะเติบโตเล็กน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยบิ๊กซีมียอดขายของสาขาเดิมปรับตัวดีขึ้นกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 และเติบโตค่อนข้างนิ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561
บริษัทเพิ่มเตาหลอมขวดแก้วใหม่ 2 เตาในช่วงปี 2560-2561 เพื่อรองรับการเติบโตของอุปสงค์ โดยเตาหลอมขวดแก้ว 2 เตานี้จะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 700 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 25% ของกำลังการผลิตของบริษัทที่มีอยู่เดิมในประเทศไทย อีกทั้งยังคาดว่ายอดขายบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจกำลังขยายธุรกิจไปยังประเทศเวียดนาม โดยจะทำให้มียอดสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์จำนวนมากเข้ามา
อัตรากำไรค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 13.5% ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากระดับประมาณ 10.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ความพยายามในการประหยัดต้นทุน การออกสินค้าใหม่ อีกทั้งการผสานพลังทางธุรกิจของบริษัท จะเป็นแรงผลักดันให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพในสายการผลิตมากยิ่งขึ้น จากการประหยัดต่อขนาด อัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับสูง และการประหยัดต้นทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัท ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง เพื่อใช้แข่งขันกับคู่แข่งในตลาดและใช้สำหรับการขยายสาขาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั่วประเทศ
มีภาระหนี้สูง ระดับภาระหนี้ที่สูงซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการซื้อกิจการบิ๊กซีเป็นปัจจัยจำกัดอันดับเครดิตของบริษัท โดย ณ เดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีเงินกู้รวม 157,453 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ระดับ 59.7%
ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินกู้รวมของบริษัทจะลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 50.0% ในปี 2563 ทั้งนี้ มีสมมติฐานว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่หรือซื้อกิจการขนาดใหญ่ใดใดโดยใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ยังคาดหมายให้บริษัทลดอัตราส่วนเงินกู้รวมสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4 เท่าภายในปี 2563
ต้องใช้เงินกู้ใหม่เพื่อชำระเงินกู้เดิม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะต้องใช้เงินกู้ใหม่เพื่อชำระคืนเงินกู้เดิมที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 24 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งเงินทุนมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3,422 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 15,000-18,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะมาจากค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมประมาณ 24,000 ล้านบาทสำหรับช่วง 2561-2563 หนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 2,100 ล้านในปี 2561 และเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 46,000 ล้านบาทในปี 2562 ทั้งนี้ ประมาณการว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน
ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนอยู่ที่ 1.4 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในสายธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงต่อเนื่องต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทอาจมีข้อจำกัดเมื่อพิจารณาถึงภาระหนี้ก้อนใหญ่ของบริษัทที่มีอยู่ ในขณะที่ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่ภาระหนี้สินของบริษัทลดลงช้ากว่าคาด หรือหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนหรือการซื้อกิจการขนาดใหญ่จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีผลต่อการลดอันดับเครดิตด้วย