นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า การพิจารณาหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะได้ข้อสรุปในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ หลังขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรอยู่ 2-3 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพันธมิตรจากในประเทศ จากเดิมที่เจรจามากกว่า 10 ราย ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และยังเป็นพื้นที่ที่กลุ่มปตท. มีการลงทุนอยู่จำนวนมาก แต่ทั้งนี้ ต้องศึกษารายละเอียดก่อนจะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าวหรือไม่ด้วย
"เนื่องจากโครงการนี้เป็นรูปแบบของ PPP ภาครัฐให้เอกชนดำเนินการ ซึ่งเราไม่ใช่มืออาชีพ ก็ต้องหาพันธมิตร กลุ่มที่มีอาชีพนี้ก็มีทั้งรฟม. บีทีเอส และพันธมิตรต่างประเทศ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี เราก็หารือ ศึกษารายละเอียดว่าควรมีพันธมิตรกับใคร และพันธมิตรนั้นจะไปยื่นซองหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุปเวลานี้ กำลังศึกษาอยู่ ภาพรวมน่าจะชัดเจนในเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะยื่นซองหรือไม่ หรือยื่นกับใคร ยื่นข้อเสนอเท่าไหร่ ไม่ใช่มีแค่บีทีเอส เราเจรจาอยู่ 2-3 ราย"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การที่พันธมิตรหลายรายให้ความสนใจมาเจรจากับปตท. เพราะเห็นศักยภาพของปตท.ทั้งในเชิงวิศวกรรม รวมถึงการทำโครงการขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างอาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ซึ่งเมื่อพิจารณาคัดเลือกพันธมิตรได้แล้วก็จะเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีมูลค่าโครงการกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ในส่วนนี้รัฐบาลจะเข้ามาอุดหนุนราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทยอยคืนเงินตามระยะเวลา ทำให้วงเงินที่เอกชนจะลงทุนจริงจะอยู่ที่ราว 1.2 แสนล้านบาท ในส่วนนี้จะเป็นเงินกู้ส่วนหนึ่ง และเงินทุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวกลุ่มปตท.มีศักยภาพในการลงทุนได้ ขณะที่โครงการมีกำหนดเปิดรับซองเอกสารเสนอราคาในวันที่ 12 พ.ย.61