นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการ บมจ.เอเชีย พลัส (ASP) กล่าวว่า บริษัทฯ คงเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตได้ 15% จาก ทุกธุรกิจยังเติบโตได้ดี แม้ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังมีการแข่งขันสูง ส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวลดลง โดยครึ่งปีแรกค่าธรรมเนียมปรับตัวลงมาอยู่ที่ 0.149% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.17% แต่ยังคงสูงกว่าอุตสาหกรรมโดยรวมที่ปัจจุบันต่ำกว่า 0.1% อีกทั้งบริษัทยังรอดูจังหวะการขายเงินลงทุน หากมีการขายเงินลงทุนในปีนี้ก็จะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้
ทั้งนี้ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ในปีนี้อาจจะเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการแข่งขันที่สูง และภาวะตลาดที่ยังคงผันผวน และมีการปรับตัวลง ซึ่งมองแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีตลาดหุ้นไทยก็น่าจะมีอัพไซต์ไม่เกิน 5% เนื่องด้วยไม่มีปัจจัยใหม่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของดัชนี ขณะที่เงินทุนไหลเข้า (Fund Flow) ก็อาจจะมีเข้าบ้าง แต่ยังต้องแย่งกับตลาดหุ้นอื่น อย่างตลาดหุ้นจีนที่หุ้นบางกลุ่มได้ปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก เช่น หุ้นกลุ่มแบงก์, ประกัน เป็นต้น โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการเทรดผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมูลค่าการเทรดเกินครึ่งเมื่อเทียบกับการเทรดรูปแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนมีการเติบโตมากขึ้น แม้มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ในครึ่งปีแรกจะลดลงเล็กน้อยราว 5 % โดยกองทุนรวม (Mutual Fund) ลดลงมาอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล (Pritave Fund) ลดลงมาอยู่ที่ 7.4 พันล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 9.4 พันล้านบาท แต่รายได้ปรับตัวสูงขึ้น จาก Equity ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทยังมีแผนออกกองทุนเพิ่มเติมอีกในครึ่งปีหลังนี้
ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ ปัจจุบันบริษัทมีงานในมืออยู่ทั้งหมด 56 ดีล แบ่งเป็น ดีล IPO จำนวน 26 ดีล และงานที่ปรึกษาทางการเงิน 30 ดีล โดยในปีนี้อาจจะไม่มีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะยังไม่มีการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งยังต้องรอดูความพร้อมของบริษัทนั้นๆ ก่อน
ส่วนธุรกิจการลงทุน เริ่มกลับมาเป็นบวกมากขึ้น จากภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผลประกอบการในไตรมาส 2/61 ก็ออกมาดีกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี, ค้าปลีก ซึ่งในอนาคตก็ยังมีการเติบโตได้อีกมาก รวมถึงหุ้นกลุ่มแบงก์ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี่ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยน่าจะมีอัพไซต์ได้อีก 5% เนื่องจากบ้านเราไม่มีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาผลักดันดัชนีให้เพิ่มขึ้น แต่หุ้นกลุ่มแบงก์ก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้จากมาร์จิ้นดอกเบี้ยไม่ได้ถดถอย
"นโยบายการดำเนินงานของเรายังไม่เปลี่ยน เรามีการกระจายธุรกิจไปทั้ง 4 ธุรกิจหลัก ซึ่งก็ยังมีการเติบโตได้ดี ทั้งธุรกิจนายหน้า แม้รายได้จะปรับตัวลดลง แต่เราก็ยังมีการเติบโตที่ดีกว่าอุตสาหกรรม ธุรกิจบริหารจัดการกองทุน ก็ถือว่าเติบโตอย่างมากจากการหาโปรดักซ์ที่มีค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น งานวาณิชธนกิจ หรือ IB ปัจจุบันเรามีงานในมือ 56 ดีล และธุรกิจการลงทุนอื่นๆ แม้ว่าภาวะตลาดจะยัง ขึ้นๆลงๆ เราก็ยังสามารถทำกำไรจากการลงทุนได้ดี โดยมองจากค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา เราก็มีการเติบโตมาโดยตลอด โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 7.5% และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อปี 15%"
พร้อมกันนี้บริษัทยังคงมองหาโอกาสเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ต.ค.นี้จะเดินทางไปประเทศอิสราเอล เพื่อมองหาการลงทุน จากปัจจุบันบริษัทเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพแล้วจำนวน 8-9 ธุรกิจ