นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เผยปัจจุบัน ทอท.ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ AOT Strategy House โดยมีจุดมุ่งเน้น 3 ด้านที่กำหนดเป็นเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ การบริการ (Service) มาตรฐาน (Standard) และการเงิน (Finance)
สำหรับด้านการบริการ ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเชิงรัฐพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองภาครัฐด้วยการจัดให้มีการบริการที่มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการ โดย ทอท.มีการติดตามผลการดำเนินงานด้านการให้บริการอย่างสม่ำเสมอภายใต้โครงการ Airport Service Quality (ASQ) ของสภาท่าอากาศยานสากล (Airport Council International : ACI) ซึ่งมี ท่าอากาศยานชั้นนำทั่วโลกเข้ารับการประเมินเพื่อจัดอันดับ พร้อมกำหนดเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานระดับองค์กร ทำให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.สามารถปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของสิ่งอำนวยความสะดวกและกระบวนการต่างๆ ของท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้ใช้บริการ โดย ทอท.มีแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยาน เพื่อรองรับปริมาณจราจรทางอากาศให้ทันต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ (Airport Service Capacity) การพัฒนาบริการโดยนำเทคโนโลยีมาร่วมให้บริการ (Intelligent Services) และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Business)
นายนิตินัย กล่าวว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-ก.ค.61) ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 12% คือ มีเที่ยวบินรวม 731,257 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน ขณะที่ผู้โดยสารรวมมีจำนวน 117,892,707 คน เพิ่มขึ้น 9.21% ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบันส่งผลให้ท่าอากาศยานมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารหนาแน่น ดังนั้นนอกจาก ทอท.จะมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว ทอท.ยังได้ศึกษาแนวทางการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทยที่จะทำให้การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจุดหมายปลายทางมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดย ทอท.ได้เสนอเข้าบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก เพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเชื่อมโยงระหว่างเมืองสำคัญในภูมิภาคอาเซียนและอนุภูมิภาค รวมทั้งอยู่ในระหว่างการพิจารณาโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารและลดปัญหาความแออัดของท่าอากาศยาน
สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.)นั้น ทอท.ได้กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์(Airport Strategic Positioning) ให้เป็นประตูสู่อันดามัน (Gateway to the Andaman) โดยมุ่งส่งเสริมให้ ทภก.เป็นประตูหลักสู่แหล่งท่องเที่ยวชายหาดที่สวยงาม ให้บริการด้วยรอยยิ้ม และหัวใจที่อบอุ่นของคนไทย เป็นจุดหมายปลายทางที่ Premium เต็มไปด้วยร้านค้าปลีกสุดหรู ร้านอาหารระดับโลก และบริการชั้นเยี่ยมต่างๆ ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการพัฒนา ทภก.(ปีงบประมาณ 2553-2557) ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทภก.จากเดิม 6.5 ล้านคนต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ ทอท.ยังได้จัดทำแผนปรับปรุงแก้ไขความแออัดระยะสั้น เพื่อบรรเทาความแออัดบริเวณห้องโถงผู้โดยสารขาออก ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ท่าอากศยานดอนเมือง (ทดม.) และทำให้ระดับการให้บริการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน
"ทอท.มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานเพื่อรองรับปริมารการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังศึกษาหาแนวทางการจัดตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดความคับคั่งของปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานปัจจุบันของ ทอท. ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรองของรัฐบาลด้วยการจัดทำแนวทางการแพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทย ซึ่งมีการบริหารงานภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อความยั่งยืนและมั่นคงต่อไป" นายนิตินัย กล่าว
ด้าน นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการ ทดม. กล่าวว่า ปัจจุบัน ทดม.มีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก และมีการเช็คอินเป็นกรุ๊ป จึงใช้เวลานานในการให้บริการ และเกิดปัญหาความแออัด คณะกรรมการ ทอท.จึงมีมติเห็นชอบแผนปรับปรุงแก้ไขปัญหาความแออัดระยะสั้น และระยะกลาง เพื่อช่วยบรรเทาความแออัดบริเวณห้องโถงผู้โดยสารขาออกในช่วงเทศกาลที่จะมีผู้โดยสารจำนวนมาก โดยจะมีการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (Association of Thai Travel Agent : ATTA) การขยายห้องโถง Bus Gate พื้นที่ประมาณ 950 ตารางเมตร สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางของผู้โดยสารขาเข้าและขาออก อีกประมาณ 220 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง (ทั้งขาเข้าและขาออก) อีก 20 ช่องตรวจ และการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ที่จะสามารถรองรับรถยนต์ได้เพิ่มอีก 2,000 คัน
สำหรับอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอด ATTA ทดม.เป็นอาคารโครงสร้างเหล็ก 2 ชั้น สูงประมาณ 20 เมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 6,300 ตารางเมตร แบ่งเป็น ชั้น 1 เพดานสูงประมาณ 8.70 เมตร มีพื้นที่ใช้สอย 2,700 ตารางเมตร เป็นพื้นที่รอขึ้นรถบัส และพื้นที่พักรอผู้โดยสาร พร้อมที่นั่งพักคอย 400 ที่นั่ง และห้องน้ำ 2 จุด บริเวณด้านหน้าอาคารเป็นช่องจอดรถบัส 16 คัน ส่วนชั้น 2 มีพื้นที่ใช้สอย 3,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่พักรอผู้โดยสารทั้งหมด ซึ่งเชื่อมต่อกับชั้น 3 ของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 มีที่นั่งพักคอย 400 ที่นั่ง ห้องน้ำ 2 จุด และเคาน์เตอร์คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) จำนวน 7 ช่องตรวจ โดยงบประมาณของ ทอท.ซึ่งเป็นงบสำรองกรณีจำเป็นเร่งด่วนปี 2561 ซึ่งขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จให้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562
นอกจากนั้น คณะกรรมการ ทอท.ยังได้มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 (ดำเนินการระหว่าง ปี 2561-2567) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ทดม.เต็มศักยภาพของพื้นที่ให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการรื้ออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (หลังเดิม) พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสาร อาคาร 3 มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี หลังจากนั้น จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เมื่ออาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และอาคาร 2 แล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารภายในประเทศรวม 22 ล้านคนต่อปี จะเพิ่มหลุมจอดเป็น 142 หลุมจอด และติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบินเพิ่ม 11 ชุด รวมทั้งเพิ่มที่จอดรถยนต์ จาก 4,475 คัน เป็น 5,736 คัน ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2567
ขณะที่ เรืออากาศโท สัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายปฏิบัติการและบำรุงรักษา) ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.ดำเนินโครงการพัฒนา ทภก.(ปีงบประมาณ 2553-2557) เสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2559 การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยได้ปรับปรุงเสร็จแล้วและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งอาคารผู้โดยสารทั้ง 2 อาคาร ได้มีการตกแต่งภายในรูปแบบชิโนโปรตุกีสที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดภูเก็ตและมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี โดยสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศในชั่วโมงคับคั่งได้สูงสุด 4,800 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารภายในประเทศในชั่วโมงคับคั่งได้สูงสุด 2,400 คนต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ข้อมูลปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศระหว่างวันของปี 2560 พบว่าช่วงเวลา 08.00 น.เป็นช่วงที่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศใช้บริการมากที่สุด ประมาณ 2,331 คน และช่วงเวลา 21.20 น.เป็นช่วงที่มีผู้โดยสารภายในประเทศใช้บริการมากที่สุด ประมาณ 1,187 คน แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันศักยภาพของ ทภก.ยังสามารถให้บริการผู้โดยสารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ส่งผลต่อระดับคุณภาพการให้บริการทางด้านกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทภก.ได้จัดสรรพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 5,900 ตารางเมตร โดยมีการแบ่งการบริหารจัดการพื้นที่เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) การให้สัมปทานรายเดียว (Master Concessionaire) มีบริษัทเอกชนประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ประมาณ 2,800 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม พื้นที่ร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก พื้นที่ให้บริการของผู้ประกอบการโรงแรมและร้านค้า และพื้นที่ให้บริการทางด้านการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตรา และ (2) การบริหารจัดการพื้นที่โดย ทอท.บนพื้นที่ประมาณ 3,100 ตารางเมตร ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ห้องพักรับรอง (Lounge) พื้นที่ให้บริการรับฝากกระเป๋า (Left Luggage) พื้นที่ให้บริการรถเช่า พื้นที่ให้บริการรถยนต์รับส่งผู้โดยสาร (Limousine) รถยนต์รับจ้างสาธารณะ รถแท็กซี่ พื้นที่ให้บริการเคาน์เตอร์รับสินค้าปลอดอากร (Pick-up Counter) และพื้นที่สำหรับการให้บริการด้านการสื่อสาร
ในด้านการให้บริการผู้โดยสารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความแออัดของผู้โดยสารบริเวณโถงผู้โดยสารระหว่างประเทศขาออก ทอท.จึงได้จัดทำโครงการพัฒนา ทภก.ระยะที่ 2 (ดำเนินการระหว่างปี 2561-2565) โดยเป็นการต่อทางขับขนานสาย P และขยายความยาวทางวิ่ง 27 เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากปัจจุบันที่รองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนั้น จะมีการขยายหลุดจอดอากาศยานเพิ่มเป็น 28 หลุมจอด แบ่งเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 11 หลุมจอด และหลุมจอดระยะไกล 17 หลุมจอด ขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกัน ทอท.จะดำเนินโครงการพัฒนา ทภก.ระยะที่ 3 (ดำเนินการระหว่างปี 2562-2568) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน เพิ่มเป็น 37 หลุมจอด แบ่งเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 19 หลุมจอด และหลุมจอดระยะไกล 15 หลุมจอด การขยายอาคารผู้โดยสารภายในประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 25 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวเป็นการพัฒนาจนเต็มขีดความสามารถภายในพื้นที่ของ ทภก.แล้ว ดังนั้น ทอท.ได้พิจารณาแนวทางก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อรองรับปริมาณจราจรทางอากาศในอนาคต คือ พื้นที่ในจังหวัดพังงา (ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง) ห่างจาก ทภก.ประมาณ 20 กิโลเมตร ทั้งนี้ ทภก.แห่งที่ 2 คาดว่าจะมีพื้นที่ประมาณ 7,000-8,700 ไร่ ให้บริการเที่ยวบินภายใน ประเทศเป็นหลัก และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 15 ล้านคนต่อปี