สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์) ฉบับแก้ไข และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 (พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ฉบับแก้ไข โดยกฎหมายทั้งสองฉบับจะมีผลใช้บังคับภายหลังการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ทั้งนี้ ข้อกำหนดที่แก้ไขในแต่ละเรื่องจะมีผลใช้บังคับไม่พร้อมกัน เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาในการเตรียมความพร้อม
สาระสำคัญ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ฉบับแก้ไข ได้แก่ เพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย เสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้น ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลเท็จหรือเรียกผลประโยชน์คืนจากกรรมการและผู้บริหาร ซึ่งผู้ที่ฟ้องร้องจะได้รับค่าใช้จ่ายที่ได้จากการฟ้องร้องด้วย และกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
และ ปรับปรุงโครงสร้าง ก.ล.ต. ให้มีความเป็นอิสระ โดยประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะไม่ใช่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง และมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับตลาดทุนขึ้นทำหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มุ่งเน้นการกำหนดนโยบายในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนในภาพรวม ซึ่งจะช่วยทำให้การดำเนินงานของ ก.ล.ต. มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฉบับแก้ไข ได้แก้ไขเพื่อรองรับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่มีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ฉบับแก้ไข
"การแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุนและยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้สินค้ามีคุณภาพและเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุนไทย ให้สามารถรองรับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ" นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
นอกจากนี้ จะทำให้การดำเนินงานของ ก.ล.ต. มีความคล่องตัว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพัฒนาการในตลาดทุนโลก ซึ่ง ก.ล.ต.จะได้จัดให้มีการซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ลงทุนต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/เสาวลักษณ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--