นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) เปิดเผยทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ (27-31 ส.ค.) ว่า ตลาดได้แรงหนุนจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่ค่อยเป็นค่อยไปทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงและทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นบวก แต่ด้วยความกังวลต่อสถานการณ์ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการค้าสหรัฐฯ-จีน ตุรกีและข่าวในทางลบของตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้เม็ดเงินในตลาดหุ้นโลกมีน้อยลง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 9 วันที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติพลิกมาขายหุ้นไทยสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีตลาดหนึ่งในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) และ กลุ่ม TIP โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 6.8%
ปัจจัยสำคัญที่ตลาดจับตามองคือ การเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่ของสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด โดยจีนแสดงจุดยืนที่จะขอยื่นเรื่องเจรจาต่อไปเพื่อหาข้อสรุป แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาว่าจะเป็นเมื่อใด ซึ่งหากการเจรจาของทั้งสองฝ่ายสำเร็จจะเป็นบวกต่อตลาด แต่หากล้มเหลวอีกจะเป็นลบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดได้รับรู้ข่าวดังกล่าวไปมากแล้ว และก็ไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์หลังการเจรจามากนัก จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดมากนัก
ส่วนปัจจัยในประเทศ มาตรการภาครัฐต่าง ๆ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่องทั้งการกระตุ้นการใช้จ่าย การเพิ่มรายได้ให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและการเร่งลงทุนต่างๆ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดี ผลประกอบการไตรมาส 2/61 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดี รวมทั้งกำหนดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้นปีหน้า ทำให้รัฐบาลจะมีการเร่งลงทุนและเบิกจ่ายในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่เงินบาทที่แข็งแกร่ง (32.6 บาท/ดอลล่าร์ /+1.7% WoW) ช่วยหนุนการลงทุนให้ดีขึ้น โดยช่วยผลักดันให้ดัชนีฯ สามารถยืนได้เหนือ 1,680 จุด ได้ และส่งผลให้หุ้นกลุ่มที่อิงกับการลงทุนภาครัฐ ทั้ง หุ้นรับเหมาฯ , หุ้นนิคมฯ หรือหุ้นค้าปลีก ได้ประโยชน์ในช่วงนี้
สำหรับกลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ KTBST คาดดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,680-1,722 จุด แนวโน้มตลาดเป็นบวก แต่ดัชนีจะขยับขึ้นแบบทรงตัว (sideway) เพราะเม็ดเงินในตลาดมีจำกัดอีกทั้งตลาดรอปัจจัยต่างประเทศคลี่คลาย ดังนั้น การเข้าลงทุนต้องเน้นหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยหนุน โดยหุ้นที่น่าสนใจสัปดาห์นี้และคาดว่าจะเป็นกลุ่มนำตลาด คือ กลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจและได้ประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐฯ เช่น BBL , BJC, AMATA ,STEC , AOT รวมทั้งกลุ่มที่ได้ผลบวกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น IRPC, IVL และกลุ่มที่ราคาปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาและมีโอกาสรีบาวน์ตามตลาด อย่างเช่น BH, SQ, BEAUTY ..