นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เออีซี (AEC) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการ การจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) (TPLAS) เปิดเผยว่า TPLAS กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 1.48 บาท/หุ้น โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหุ้นในวันที่ 28-30 ส.ค.นี้ โดยมี บล.เออีซี เป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ขณะที่ บล.เคที ซีมิโก้ (ประเทศไทย), บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) และ บล.คันทรี่กรุ๊ป เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Co-Underwriter) หุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
ราคาเสนอขายหุ้น IPO ดังกล่าวคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) เท่ากับ 14.80 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนอื่นที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจใกล้เคียงกับ TPLAS เช่น บมจ.ทีพีบีไอ (TPBI) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี เท่ากับ 21.37 เท่า และปัจจุบันเท่ากับ 30.99 เท่า
ทั้งนี้ TPLAS คาดว่าจะเข้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในเดือน ก.ย.นี้ ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม
สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ TPLAS เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 70 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.93% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น
บริษัทมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 100 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 200 ล้านหุ้น โดยหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้จะทำให้ทุนจดทะเบียน เพิ่มเป็น 135 ล้านบาท หรือคิดเป็น 270 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 58.62 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 10.50 ล้านหุ้น เสนอขายต่อกรรมการและผู้บริหารและพนักงานบริษัทฯจำนวนไม่เกิน 0.88 ล้านหุ้น
"การกำหนดราคา IPO ที่ระดับราคา 1.48 บาทต่อหุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างยั่นยืน ตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งให้มีการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่ม และผลิตภัณฑ์ของ TPLAS จัดเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้สูง" นายชนะชัย กล่าว
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลประกอบการของบริษัทในปี 60 มีรายได้จากการขายรวม 530.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 22.09 ล้านบาท และล่าสุด บริษัทมีรายได้รวมงวด 6 เดือนปี 61 ที่ 273.14 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 12.52 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากดีมานความต้องการใช้ถุงพลาสติกยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯต้องเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตถุงพลาสติกของบริษัทฯ เพื่อรองรับกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้าน นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ TPLAS เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหารประเภท ถุงร้อน ผลิตจากพลาสติกชนิด PP , ถุงขุ่น และ ถุงหูหิ้ว ผลิตจากพลาสติกชนิด HDPE ภายใต้ตรา "หมากรุก" และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ผลิตจากพลาสติกชนิด PVC ภายใต้ตรา "Vow Wrap" โดยมีสโลแกน คือ"มาตรฐาน ทนทาน เหนียวแน่น " และมีนโยบายมุ่งเน้นสร้างการเติบโตโดยการเจาะตลาดท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าฐานเดิมที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด พร้อมๆกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณพร้อม และการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการเก็บรักษาสินค้าและวัตถุดิบให้อยู่ได้นาน หรือห้างสรรพสินค้า และโรงแรมที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทฯมีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายเปิดการค้าเสรี (AEC)
"เรามั่นใจในศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต ส่งผลให้บริษัทฯมีความพร้อมที่จะมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารที่ทันสมัย และมีคุณภาพสูง ที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ " นายธีระชัย กล่าว
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จำนวน 103.60 ล้านบาท เพื่อลงทุนสินทรัพย์ในการขยายอาคารโรงงานใหม่ พร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และปรับปรุงอาคารโรงงานเดิม รวมถึงสำนักงานบริษัทฯ เพื่อเป็นการรองรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากถุงพลาสติก และการขยายตลาดมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทมีการผลิตสินค้าขนาดที่ใช้ทั่วไปในตลาดแบบ Mass Production เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกและฟิล์มถนอมอาหารที่มีมากในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันกำลังการผลิตถุงพลาสติก รวม 10,281.60 ตันต่อปี โดยแบ่งเป็น ถุงพลาสติกประมาณ 850 ตันต่อเดือน ในขณะที่กำลังการผลิตฟิล์มถนอมอาหาร (PVC) อยู่ที่ 1,411.20 ตันต่อปี หรือประมาณ 120 ตันต่อเดือน