นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้น่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก เป็นไปตามยอดเติมเงินผ่านตู้บุญเติมที่คาดจะเติบโต 20% และการบริหารจัดการยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน (ARPU) จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ขณะที่แผนการขยายตู้เติมเงิน 1 หมื่นตู้ในปีนี้ ครึ่งปีแรกสามารถทำได้แล้ว 5 พันตู้ โดยครึ่งปีหลังนี้จะขยายเพิ่มอีก 5 พันตู้ วางงบลงทุน 150 ล้านบาท ทำให้สิ้นปีนี้บริษัทจะมีตู้เติมเงินบุญเติมเพิ่มเป็น 134,563 ตู้
ทั้งนี้ บริษัทคาดผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้น่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก แม้ในไตรมาส 3/61 จะเป็นช่วงของโลซีซั่นของธุรกิจ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีฝนตกค่อนข้างมากและยังมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งน่าจะทำให้ยอดรายได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/61 แต่ในไตรมาส 4/61 เชื่อว่าผลประกอบการจะเริ่มกลับมาดีขึ้น
ขณะที่บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์เคลื่อนย้ายตู้บุญเติมที่ไม่มียอดใช้บริการต่ำไปยังทำเลที่มีศักยภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่ออัตรากำไรสุทธิปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 16.14% อีกทั้งบริษัทยังเตรียมเพิ่มบริการการจำหน่ายซิมการ์ด และการรับพิสูจน์ตัวตน (KYC) คาดจะเริ่มเห็นการให้บริการดังกล่าวผ่านตู้บุญเติมเป็นตู้แรกในไตรมาส 4/61 นี้เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 1 หมื่นตู้ในไตรมาส 2/62
พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายซิมการ์ดผ่านตู้บุญเติมที่ 20% ของยอดขายซิมโดยรวม และตั้งเป้ารายได้จากการรับพิสูจน์ตัวตน (KYC) ผ่านตู้เติมเงินในการเปิดบัญชีทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน (Non-bank) ไว้ที่ 10 บาท/ครั้ง
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการให้บริการฝากเงินและโอนเงินผ่านตู้เติมเงินบุญเติม ล่าสุดได้เพิ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้ามาเป็นธนาคารที่ 3 จากเดิมที่มีการให้บริการอยู่จำนวน 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และกรุงไทย (KTB) โดยบริษัทฯ คาดหวังจะเพิ่มธนาคารกรุงเทพ (BBL) เข้ามาอีกน่าจะเห็นได้ภายในปีนี้
ส่วนแอพพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ (Be Wallet) ปีนี้ตั้งเป้ายอดผู้ใช้บริการที่ 2 แสนราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 หมื่นราย โดยบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาทำการตลาดในรูปแบบใหม่ หลังธนาคารพาณิชย์ใช้โปรโมชั่นส่งเสริมการใช้บริการออนไลน์ด้วยการฟรีค่าธรรมเนียมการใช้บริการ
นายณรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะมีการเพิ่มบริการผ่านตู้บุญเติมแล้ว บริษัทยังเพิ่มบริการสำหรับตู้เวนดิ้งแมชชีน ในการจำหน่ายขนมขบเคี้ยว (snack) เพิ่ม ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มจำหน่ายแล้วจำนวน 10 ตู้ คาดว่าการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวน่าจะมียอดขายเติบโตมากขึ้น
"ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดเติมเงินจากการใช้บริการโอนเงินประมาณ 16% โดยการใช้บริการหลักยังมาจากการเติมเงินมือถือ 74%, การใช้บริการเติมเงิน e-wallet 4.2%, การใช้บริการชำระบิล 3.5% ที่เหลือเป็นการใช้บริการอื่นๆ โดยมีฐานลุกค้ามากกว่า 25 ล้านเลขหมาย ทำให้ตู้บุญเติม ยังเป็นผู้นำตลาดตู้เติมเงินออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้บริษัทสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้โดยเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว