นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนพลังงานทดแทนในเวียดนามเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) และพลังงานลม หลังจากที่ล่าสุดได้เข้าร่วมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) แล้ว 2 โครงการ เนื่องจากเวียดนามมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงปีละ 7% และยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเท่าตัวเป็น 40,000 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า
"เวียดนามเขามี GDP growth ปีละ 7% มีแต่ young generation และเพิ่งเริ่มการสนับสนุนโซลาร์ เรามีความสนินสนมกับผู้ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล ทำให้เราสามารถได้โครงการมา 420 เมกะวัตต์ และ 257 เมกะวัตต์ ผู้ถือหุ้นของเราก็จะเป็นผู้ถือหุ้นที่มี connection ระดับสูงได้มาและทำร่วมกัน เราก็ดูความเสี่ยงต่าง ๆ...ปัญหาคือความท้าทายที่ต้องสร้างให้ทัน ไม่เช่นนั้นราคารับซื้อก็จะลดลงจากตอนนี้ได้ 3 บาทนิดๆ หรือ 9.35 เซนต์ ก็จะลดลงเยอะ ฉะนั้น คนที่เข้ามาต้องพยายามเร่งหาไฟแนนซ์ หาคนสนับสนุน ซึ่งพันธมิตรจีนเขายินดี ในส่วนของบี.กริม.ก็จ่ายงวดแรก 10% ไปก่อน"นางปรียนาถ กล่าว
BGRIM จะลงทุนโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม 2 โครงการ ได้แก่ การเข้าถือหุ้น 55% ในโรงไฟฟ้าขนาด 420 เมกะวัตต์ และเข้าถือหุ้น 80% ในโรงไฟฟ้าขนาด 257 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองโครงการมีอัตราการรับซื้อไฟฟ้า 9.35 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐ/หน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 30 มิ.ย.62
นางปรียนาถ กล่าวว่า การลงทุนในเวียดนามทั้ง 2 โครงการไม่ได้กระทบต่อวงเงินลงทุนมากนัก เนื่องจากพันธมิตรที่ร่วมลงทุนนั้นจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างไปก่อนเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามกำหนดกลางปี 62 หลังจากโครการ COD ครบ 1 ปีค่อยชำระเงินลงทุน ขณะที่บริษัทเองก็มีศักยภาพการลงทุนเพราะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับ 1.4 เท่า
ทั้งนี้ โอกาสการลงทุนในเวียดนามยังมีอีกมากเมื่อเทียบกับภายในประเทศไทยที่ยังไม่ค่อยเปิดรับซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่มากนัก โดยปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนยังรอดูการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้อนุมัติแผนดังกล่าวออกมา แต่เท่าที่ติดตามพบว่าแผน PDP ใหม่ค่อนข้างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทั้งประเทศปริมาณการผลิตไฟฟ้ายังเกินกว่าความต้องการใช้ราว 10,000 เมกะวัตต์ แต่ไม่ใช่ในทุกพื้นที่ เพราะในส่วนของภาคใต้ยังคงมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ทำให้มีการส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางเข้าไปในพื้นที่ ทำให้แผน PDP ใหม่ก็จะมีการกำหนดการผลิตไฟฟ้าในแต่ละภาคซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังรอความชัดเจนเรื่องการต่อสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภท Cogeneration ที่จะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐในปี 60-68 ซึ่งจากการประชุมกับหน่วยงานรัฐหลายครั้งในที่ผ่านมา เชื่อว่ารัฐบาลไม่มีข้อข้องใจถึงความจำเป็นที่จะต้องต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพียงแต่ยังม่ความไม่ชัดเจนเรื่องรูปแบบการต่อสัญญา จากก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เคยมีมติเมื่อปี 59 แล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ในทางปฏิบัติ และล่าสุดรัฐบาลก็มีแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงมติเดิม แต่ยังไม่มีผลสรุปออกมา แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเร่งรีบตัดสินใจได้ในเร็ววันนี้
สำหรับในส่วนของบริษัทมีโรงไฟฟ้า SPP ที่จะหมดสัญญาในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ 3 โรง โดยอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี 2 โรง และอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 1 โรง ซึ่งจะหมดอายุในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า