รมว.ดีอี ผลักดันการลงทุนมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 30, 2018 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงาน Thailand Focus 2018 "The Future is Now" โอกาสการลงทุน...ไม่ต้องรออนาคต ในหัวข้อ Smart Cities and Internet Of Things (เมืองอัจฉริยะ และ Internet of Things) ว่า ดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจหรือสังคม โดยรัฐบาลก็ได้มีการลงทุนในด้าน 5 ด้าน ได้แก่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาคน การพัฒนาเทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นต่างๆ รวมถึงการทำให้ภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล และการดูแลรักษาความปลอดภัยในระบบไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซ็กเตอร์สำคัญๆของประเทศ เช่น เซ็กเตอร์ทางด้านการเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้ มองโอกาสของประเทศไทย ณ วันนี้มีสูงมาก หากประเทศไทยอาศัยนำดิจิทัลเข้ามามากขึ้น นอกเหนือจากเป็น Digital industry แล้วแต่สิ่งที่สำคัญคือ Digital technology ที่จะเข้ามาสนับสนุนภาคอื่นๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดประสิทธิภาพแล้วยังทำให้สามารถปรับตัวจากผลกระทบที่เรียกว่า Disruption ได้อีกด้วย รวมทั้งการใช้บุคคลากรในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเซ็กเตอร์ไหนก็มีความจำเป็นที่จะใช้คนที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล

นอกจากนี้ รัฐบาลก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในแง่ของระบบราง มองว่าดิจิทัลจะเป็นองค์ประกอบที่จะช่วยทำให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมให้กับระบบราง ซึ่งนอกจากเป็นการใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารแล้วยังเป็นการใช้เพื่อให้ระบบต่างๆมีความเสถียรและปลอดภัย

ขณะเดียวกันภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่รถยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid) หรือรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ซึ่งดิจิทัลจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องไม่เพียงแค่การติดต่อสื่อสารปกติระหว่างรถยนต์กับรถยนต์เท่านั้น แต่จะขยายไปสู่การเชื่อมต่อระหว่างรถยนต์กับบ้าน รถยนต์กับรีโมทบ้าน รถยนต์กับโรงพยาบาล เป็นต้น

ขณะที่รัฐบาลก็ได้มีการเตรียมความพร้อม เช่น การสร้างสถาบัน Internet of things (IOT) โดยการ Connected car ก็มีความจำเป็นต้องใช้ IOT ในการเชื่อมต่อ อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลได้หันมาให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวก็จะเป็นส่วนเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมยายนต์แห่งอนาคตได้

สำหรับการเป็น Smart City หรือเมืองอัจฉริยะจะช่วยส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเอกชนที่เป็นผู้ให้บริการทางด้านอินเทอร์เน็ต ด้านการบริหารจัดการน้ำ สมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือระบบไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ อีกทั้ง Smart City ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น อาคาร Smart Building, โรงเรียน Smart Education, เป็นต้น

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนความคืบหน้าด้านกฎหมายทุกฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ..., ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... เป็นต้น ยังอยู่ระหว่างดำเนินการในกระบวนการต่างๆ และจะเตรียมนำเข้าสู่สนช.ต่อไป

พร้อมกันนี้ นายพิเชฐ ยังกล่าวว่า ในปี 62 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ในด้านของกระทรวงดิจิทัล รัฐบาลจะเป็นผู้นำอาเซียนทางด้านมาสเตอร์แพลน (Master Plan) ของดิจิทัลอาเซียน, Digital Connectivity ในการเจรจาร่วมกับประเทศในอาเซียนเพื่อเชื่อมต่อกัน เช่น ในเรื่องของซับมารีนเคเบิ้ล, การทำกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน เช่น เรื่องไซเบอร์, Transaction online trading และ Smart City และการพัฒนาคนทางด้านดิจิทัล

"ปัจจุบันนี้มี Disruption เกิดขึ้นทุกที่ เนื่องจากความเป็นดิจิทัล ทำให้มีความท้าทายที่เราจะต้องเปลี่ยนและปรับตัวให้เร็วที่สุด ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เอกชนและรัฐจะต้องร่วมมือกัน นำพาประเทศก้าวหน้าสู่สังคมดิจิทัลไปพร้อมกัน และต้องตัดสินใจว่า เราจะทำอะไรกันบ้าง โดยสิ่งที่เราให้ความสำคัญในการผลักดันให้เกิด Digital Thailand มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ พยายามจะนำเอาดิจิทัล เทคโนโลยีมาลดช่องว่างทางสังคมระหว่างคนจนและคนรวย, กระจายรายได้ให้ทั่วถึงบนรากฐานของความยั่งยืน และเสริมศักยภาพ พัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้เป็นแรงงานที่มีความสามารถเชิงดิจิทัล เนื่องจากในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน จึงต้องพยายามสร้างบุคคลากรที่สามารถรองรับรูปแบบการทำงานในอนาคต"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ