นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาทในปี 63 โดยในส่วนนี้ประมาณ 25-30% จะมาจากรายได้ต่างประเทศ หลังล่าสุดมุ่งขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก จากปัจจุบันที่มีโครงการร่วมทุนอยู่แล้ว 1 โครงการ กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เมืองทอตโตะริ ซึ่งเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่อยู่ระหว่างรอสรุปร่วมทุนอีก 3 โครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของบริษัทไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนที่ดีที่สุด และรายละเอียดการลงทุนที่คาดว่าจะสรุปได้ภายในไตรมาส 4/61
เบื้องต้นบริษัทได้ประกาศการร่วมลงทุนไปแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังผลิต 480 เมกะวัตต์ ณ เกาะ Ukujima เมืองนางาซากิ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปสัดส่วนการร่วมทุนกับพันธมิตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้และแล้วเสร็จใน 4 ปีจึงจะรับรู้รายได้เข้ามา
และ โครงการโซลาร์ฟาร์ม ณ เมืองฟูกุโอกะ ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่งการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/61 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปีครึ่ง หรือในช่วงปี 62-63 ก็จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามา
ส่วนอีก 1 โครงการเป็นโซลาฟาร์ม ขนาด 100 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองนางาซากิ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุน คาดว่าจะสรุปผลได้ภายในไตรมาส 4/61
"เรา target ที่จะใช้เงินสำหรับทั้ง 3 โครงการไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท เราจะสรุปทีเดียวพร้อมทั้งทำแผนจัดหาแหล่งเงินทุนน่าจะเสร็จในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน"นางวันดี กล่าว
นางวันดี กล่าวว่า บริษัทยังได้ทำโครงการทดลองร่วมกับ Kyushu University ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ขนาด 2 เมกะวัตต์ และมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ขายในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก (พีค) ซึ่งจะได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเดิม โดยโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 160 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาส 1/62 ซึ่งหากผลการทดลองประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสที่จะนำมาพัฒนาโครงการในประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต
สำหรับการขยายการลงทุนประเภทโซลาร์ฟาร์มในภูมิภาคนี้บริษัทก็ให้ความสนใจเช่นกัน อย่างในเวียดนามที่มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโซลาร์ฟาร์มค่อนข้างมาก แต่ยังติดขัดเรื่องการลงทุนจะต้องร่วมกับพันธมิตรในเวียดนาม ซึ่งบริษัทต้องการรอดูความชัดเจนที่มากขึ้น อีกทั้งในช่วงนี้บริษัทก็จะเน้นให้ความสำคัญกับประเทศหลักอย่างญี่ปุ่นก่อนเป็นอันดับแรก
ส่วนในประเทศไทยนอกจากจะมีโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้ง 36 แห่งที่ COD เรียบร้อยแล้ว บริษัทยังเป็นผู้รับติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกค้าด้วย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ดังกล่าวราว 2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 50-60 เมกะวัตต์ จากตลาดรวมที่มีอยู่ราว 100 เมกะวัตต์ ซึ่งสัดส่วนรายได้จากโซลาร์รูฟท็อปคิดเป็นราว 25% ของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังมาจากโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศ ขณะที่ปีนี้เพิ่งจะเริ่มรับรู้โซลาร์ฟาร์มแห่งแรกในญี่ปุ่นเพิ่มเติมเข้ามา
นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทยังศึกษาการลงทุนในธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO) ที่จะติดตั้งระบบโซลาร์รูฟและขายไฟฟ้าให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง แต่สามารถใช้พลังงานได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด ส่วนการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างชุมชน โดยผ่านเทคโนโลยี Blockchain นั้น นับเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งบริษัทยังอยู่ระหว่างเฝ้าติดตามต่อเนื่อง
"ตอนนี้เรากำลังมี Business Model ใหม่ การติดตั้งโซลาร์รูฟอาจจะเป็น ESCO Energy Service Company คือแบบ ตั้งขึ้นมาไปติดโซลาร์รูฟ คนที่ไม่มีวัตถุประสงค์การลงทุน ก็จะได้ใช้พลังงานที่ถูกกว่า"นางวันดี กล่าว