ปชป.เล็งร้องนายกฯ-พลังงานกรณี PTT แข่งธุรกิจเอกชนขัด รธน.,อดีต CEO แจงซื้อ GLOW-ขยายร้าน"อเมซอน"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 3, 2018 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว"Korn Chatikavanij" เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "ความคาดหวังจาก ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจไทยที่เป็น ‘National Champion’ และเหตุผลที่การซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้า GLOW และยุทธศาสตร์ Cafe Amazon จึงเป็นเรื่องอันตราย"

โดยพรรคประชาธิปัตย์จะยื่นร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารนโยบาย และยื่นต่อคณะกรรมการพลังงาน ในฐานะผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามีข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 75 ที่ห้ามรัฐไม่ให้ทำธุรกิจแข่งกับประชาชน

"ถ้าหากบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐยังขายกาแฟแข่งกับประชาชนได้แบบนี้ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้เขียนไว้เพื่ออะไร ในภาพใหญ่เราต้องใส่ใจกับเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม และเรื่องอิทธิพลทุนใหญ่ ผมว่าจุดเริ่มต้นที่ดีคือรัฐเองอย่าไปเบียดพื้นที่หากินชาวบ้าน ส่วนปตท.นั้นเป็นความหวังของเราทุกคนครับ ผมเชื่อว่าคุณสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากกว่าที่จะมาขายกาแฟแข่งกับชาวบ้าน หรือไล่ซื้อกิจการของลูกค้าของตนอย่างในกรณี GLOW"นายกรณ์ ระบุ

นายกรณ์ เห็นว่า การที่บมจ.ปตท. (PTT) จะเป็น National Champion ควรที่จะต้องใช้ศักยภาพและทรัพยากรของตนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการลงทุนขยายกิจการไปในตลาดต่างประเทศ หรือหากจะทำธุรกิจในประเทศ ก็ควรลงทุนทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีผลในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ มากกว่าที่จะทำในสิ่งที่ผู้ประกอบการคนไทยเจ้าอื่นทั่วไปสามารถจะทำได้ และสิ่งที่ ปตท.ไม่ควรทำคือใช้อำนาจทางการตลาด ที่ได้มาจากความได้เปรียบในฐานะรัฐวิสาหกิจ ในการทำธุรกิจในลักษณะที่ทำให้คนอื่นเสียเปรียบ ซึ่งในมุมมองเห็นว่านอกจากจะขัดต่อกฎหมายจัดตั้งปตท. แล้วยังน่าจะขัดรัฐธรรมนูญอีกด้วย

สำหรับประเด็นที่จะยื่นร้องเรียนปตท.ต่อผู้ที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง มีทั้งหมด 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ปตท. ใช้บริษัทลูกคือบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้าซื้อหุ้น 69% ในบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนชื่อ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ซึ่งปัญหาสำคัญคือ ปตท. เป็นผู้ขายก๊าซฯผูกขาดให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกโรงในประเทศไทย ดังนั้น หาก ปตท.ลงมาผลิตไฟฟ้าเอง จะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าบิดเบี้ยวทันที โดยที่ผู้ที่จะรับเคราะห์สุดท้ายก็คือประชาชนในฐานะผู้ซื้อไฟ ขณะที่ปตท. จัดตั้งขึ้นมาตามพ.ร.บ. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีภารกิจเจาะจงให้ทำธุรกิจปิโตรเลียมเท่านั้น ประกอบกับรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่ารัฐห้ามทำธุรกิจแข่งกับเอกชน (มาตรา 75) ดังนั้น ปตท. จะทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าแข่งกับเอกชนไม่ได้

ส่วนกรณีที่ 2 เรื่องร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ที่ปัจจุบันมีการขยายสาขาออกมานอกสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและเป็นการแข่งขันโดยตรงกับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีทางจะสู้ได้ด้วยกำลังทุนที่ต่างกัน นอกจากนี้ปตท.ยังประกาศจะทำโรงแรมด้วย ซึ่งก็อาจจะกระทบต่อการอยู่รอดของเอกชนที่มีสายป่านสั้นกว่า

ขณะที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของปตท. ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้ามาตอบในเฟซบุ๊กของนายกรณ์ ว่า ตนเองเกษียณจากปตท.แล้ว ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ และขอให้ข้อเท็จจริงว่า กรณีร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนนั้นกว่า 90% ของผู้ลงทุนคือรายย่อย ไม่ใช่ ปตท.ลงทุน

ส่วนการดำเนินธุรกิจโรงแรมตามสถานีบริการน้ำมันนั้นมีมานานแล้ว แต่ขาดมาตรฐานที่คนเดินทาง เช่น Sales, Auditors จะวางใจได้ ปตท.จึงหาพันธมิตรมาออกแบบและกำหนดมาตรฐานเหมือนที่ทำกันในต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้เดินทาง และจะเป็นการลงทุนโดยผู้ประกอบการรายย่อยเช่นกัน

สำหรับการจะเข้าซื้อหุ้น GLOW นั้น ทาง Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GLOW จะขายหุ้น GLOW ให้กับ GPSC เพราะได้เปลี่ยนนโยบายมุ่งสู่ Renewables ในขณะที่ธุรกิจก๊าซฯเริ่มเปิดเสรี และปตท.กับ GPSC ดำเนินธุรกิจในลักษณะ Arm Length เพราะต่างก็เป็นบริษัทมหาชน สัญญาระหว่างกันที่มีนัยยะสำคัญถือเป็น connected transaction ที่ต้องให้ผู้ถือหุ้นอื่นเห็นชอบ และฮั้วกันไม่ได้

ธุรกิจน้ำมันและขายปลีกของปตท. ในนามของบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ไม่มีสิทธิพิเศษจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แข่งขันกับเอกชนอื่นรวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติบนสนามที่เท่าเทียมกัน และอยู่ระหว่างการนำเข้าจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ด้านหน้าที่ National Champion ที่ปตท.ทำอยู่คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ให้คนไทยมีน้ำมันใช้ทุกแห่งหน ทุกเวลา ,พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ปั๊มให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรมสำหรับคนไทย ,ลงทุนและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดหาและจัดส่งก๊าซให้ผู้ใช้อย่างเพียงพอ ในราคาที่เป็นธรรม และมั่นคงในระยะยาว ,สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและรายได้ให้รัฐจากการลงทุนในธุรกิจโรงแยกก๊าซ โรงกลั่น ปิโตรเคมี ,กระจายเศรษฐกิจจากการมีส่วนร่วมของ SME (คู่ค้าและ dealers) และเกษตรกร ชุมชน ที่ปั๊มปตท.

ตลอดจนเป็นแกนนำ brand ไทยในปั๊มปตท. ไปลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และกำลังขยายไปนอกภูมิภาค ,ส่งเสริมและผลักดันงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี และสนับสนุนตั้งพื้นที่เขตนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และรณรงค์การดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจชุมชน ผ่านโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ โครงการ 84 ตำบลวิถีพอเพียง โครงการลูกโลกสีเขียว ป่าในกรุง บางกะเจ้า และโครงการแยกขยะ

ด้านนายกรณ์ ตอบกลับนายเทวินทร์ว่า ยังมองว่าสถานภาพทั่วไปในปัจจุบัน ทุนใหญ่ได้เปรียบและกินพื้นที่เศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีหน้าที่ต้องพยายามลดความเสียเปรียบของรายย่อยที่มีโดยธรรมชาติ ดังนั้น การตีความในแต่ละกรณีต้องไม่ลืม ‘ภาพใหญ่’ นี้ และต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ‘ตกลงกฎหมายมีไว้ช่วยใคร’ หากคิดจะช่วยขาใหญ่ก็ปล่อยให้มีการตีความไปว่าบริษัทแม่ทำไม่ได้ ก็ให้ตั้งบริษัทลูกไปทำแทน เป็นต้น

แต่ถ้าคิดจะช่วยรายเล็กไม่ให้เสียเปรียบเกินไป ก็ต้องตีความเพื่อให้โอกาสเขาแข่งขันได้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ด้วยความชื่นชมปตท. และความสำเร็จของปตท. เพียงอยากเห็นปตท. ท้าทายตัวเองมากกว่านี้

พร้อมตั้งคำถามว่า ตามมาตรา 75 ที่ระบุไว้ว่า "รัฐต้องไม่ประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับ เอกชน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผล ประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือการจัดทำบริการสาธารณะ" คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ว่าที่เขียนไว้นี้แปลว่าอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ