นายอังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว (LPH) เปิดเผยว่า บริษัทจะสามารถสรุปผลการเจรจาเข้าลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกในเดือน ก.ย.นี้ โดย LPH จะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 30% ซึ่งขณะนี้บรรลุเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุนแล้ว และอยู่ระหว่างรอรับรองงบการเงิน
"โรงพยาบาลนี้มีความน่าสนใจเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีแนวโน้มจะมีจำนวนผู้อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ก็จะผลักดันให้มีจำนวนคนไข้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นด้วย"นายอังกูร กล่าว
นอกจากนี้ ยังมองเห็นถึงความร่วมมือกันในการส่งคนไข้ระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 โรงพยาบาล ประกอบกับโรงพยาบาลในภาคตะวันออกดังกล่าวยังมีแผนการลงทุนขยายโรงพยาบาลไปในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม ทำให้มีแผนการเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงปี 63 ซึ่งทาง LPH ที่มีประสบการณ์เรื่องเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมาก่อนสามารถจะเป็นผู้ช่วยแนะนำการเตรียมตัวให้ได้
สำหรับแผนการลงทุนของ LPH ในช่วงปี 61-64 วางแผนใช้งบลงทุนรวมมากกว่า 1 พันล้านบาท โดยมีแหล่งเงินทุนมาจากเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ยังมีเหลืออยู่ราว 700 ล้านบาท และเงินกู้ของสถาบันการเงินที่ให้วงเงินกู้ยืมมา โดยมีนโยบายควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้ไม่เกิน 1 เท่า จากปัจจุบันที่ 0.5 เท่า
โดย LPH มีแผนจะเงินลงทุนสำหรับการขยายและปรับปรุงอาคารของโรงพยาบาลลาดพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปี 61 จะใช้งบราว 100 ล้านบาทปรับปรุงอาคาร 2 ซึ่งจะปรับปรุงห้องตรวจ และขยายอาคารจอดรถ ใช้เป็นอาคารที่รองรับผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยประกันสังคม ขณะเดียวกันจะสร้างอาคารใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วยในอีก 50 เตียง และรองรับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) ใหม่ 2 ศูนย์ คือ ศูนย์มะเร็ง และศูนย์โรคหัวใจ โดยใช้งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโรงพยาบาลลาดพร้าว ลำลูกกา มูลค่า 600 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนและพิจารณารูปแบบใหม่ จากเดิมที่จะเป็นโรงพยาบาลที่เน้นเกี่ยวกับแม่และเด็ก โดยกำลังหารูปแบบที่เหมาะสมใหม่ให้เข้ากับการใช้บริการของประชาชนในย่านดังกล่าว และจะต้องมีความแตกต่างจากโรงพยาบาลลาดพร้าวในปัจจุบัน ซึ่งทำให้แผนการเปิดโรงพยาบาลลาดพร้าว ลำลูกกา เลื่อนเปิดออกไปเป็นปลายปี 64 หรือต้นปี 65 จากเดิมจะเริ่มก่อสร้างกลางปีนี้
นายอังกูร กล่าวอีกว่า LPH มีแผนจะขอเพิ่มโควตาคนไข้ประกันสังคมรวมเป็น 260,000 ราย ภายในปี 64 จากปีนี้ที่มีโควตาคนไข้ประกันสังคมรวมอยู่ที่ 160,000 คน โดยช่วงปี 62-64 จะเพิ่มจำนวนโควตาอีก 25,000 ราย, 25,000 ราย และ 50,000 ราย ตามลำดับ โดยได้วางแผนการปรับปรุงอาคาร 2 เพื่อรองรับผู้ป่วยประกันสังคมไว้แล้ว
และในปี 64 หลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีจำนวนคนไข้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นอีก เพราะการเดินทางมาโรงพยาบาลมีความสะดวก ขณะที่โรงพยาบาลลาดพร้าวยังคงเป็นโรงพยาบาลที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในย่านลาดพร้าวและใกล้เคียง ในราคาค่าบริการที่มีความเหมาะสม
"ในปี 64 คาดว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว จะทำให้มีคนไข้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอีก เพราะการเดินทางสะดวก สถานีอยู่ข้างหน้าโรงพยาบาลเลย และย่านใกล้ ๆ ลาดพร้าวก็จะมีแหล่งงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้เรามองว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะขอโควตาผู้ป่วยประกันสังคมเพิ่ม เพราะกลุ่มคนไข้ที่ทำงานประจำก็เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของโรงพยาบาลด้วย แต่ก็วอนว่าอย่าส่งผู้สูงอายุมาให้เรามาก เพราะกลุ่มผู้สูงอายุมีต้นทุนค่าใช้จ่ายการรักษาที่สูงบางทีเราก็ขาดทุนด้วย"นายอังกูร กล่าว
นายอังกรู กล่าวว่า LPH ยังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากคนไข้ต่างชาติที่มาจากต่างประเทศ เพื่อรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มเป็น 5% ภายในปี 63 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนน้อยมากและไม่ถึง 5% โดยจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นเอเจนซี่ในต่างประเทศในการพาคนไข้จากต่างประเทสเข้ามารักษา โดยล่าสุดโรงพยาบาลเอเจนซี่จากกัมพูชาที่เคยทำงานให้กับโรงพยาบาลพญาไท เข้ามาช่วยในการนำคนไข้ชาวกัมพูชาเข้ามารักษาในโรงพยาบาลลาดพร้าว เพราะชาวกัมพูชานับว่าเข้ามารักษาในโรงพยาบาลที่ไทยเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด
รวมถึงจะขยายความร่วมมือกับเอเจนซี่ในประเทศกลุ่ม CLMV เพิ่มเติม รวมไปถึงประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีคนไข้เข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตรยากมากขึ้น ซึ่งทางโรงพยาบาลมีความเชี่ยวชาญในการรักษาดังกล่าว เพราะหากนึกถึงโรงพยาบาลลาดพร้าว สิ่งแรกที่จะต้องนึกถึง คือ ศูนย์แม่และเด็ก อีกทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับเอเจนซี่ในประเทศเอธิโอเปียในการที่นำคนไข้ชาวเอธิโอเปียเข้ามารักษาด้วย
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งหลังปีนี้จะเปิดอีก 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์โรคตาและเลสิก ศูนย์ความงามและเลเซอร์ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์กระดูกและข้อ ซึ่งจะรวมทั้งหมดมี 9 ศูนย์ จากเดิมที่มี 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์สุขภาพเด็ก ศูนย์สุขภาพสตรี ศูนย์ตรวจสุขภาพ และศูนย์ทันตกรรม
พร้อมกับจะเพิ่มอีก 2 ศูนย์ในปี 62 คือ ศูนย์มะเร็ง และศูนย์โรคหัวใจ ซึ่งจะต้องหาทีมแพทย์แม่เหล็กที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแลรักษาคนไข้ ซึ่งจะดึงดูดให้มีคนไข้เข้ามารักษาเพิ่มขึ้น โดยที่เป้าหมายรายได้ในแต่ละปีจะเติบโต 10-15% และการเติบโตของกำไรก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
สำหรับแนวโน้มของผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 คาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้รวม 797 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 90.71 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังของทุกปีเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาลที่มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น เพราะช่วงไตรมาส 3 เป็นช่วงหน้าฝน และเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูในปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 และในปีนี้มีไวรัสไข้หวัดชนิดใหม่ที่แพร่กระจาย ทำให้ปัจจุบันมีคนไข้เข้ามารับการรักษาเพิ่มและฉีดวัคซีนป้องกันมากขึ้น
ส่วนการปรับเพิ่มอัตราค่ารักษาพยาบาลของคนไข้ชำระเงินสดได้ปรับเพิ่มไปแล้ว 5-10% ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ซึ่งเป็นการปรับตามต้นทุนการรักษาที่เพิ่มขึ้น โดยที่อัตราการรักษาเฉลี่ยต่อบิลของผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 1,800 บาท/คน/บิล และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25,000 บาท/คน/บิล จากเดิมที่ 20,000 บาท/คน/บิล
ด้านการนำบริษัทลูก คือ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC) เข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ช่วงปี 63 เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายห่องแล็บเพื่อใช้ไนการวิจัยและพัฒนา โดยคาดว่าในปี 62 ผลการดำเนินงานของ AMARC จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นจากปี 61 และในปีนี้ LPH จะเพิ่มทุนใน AMARC อีก 50 ล้านบาทเพื่อนำไปใช้ซื้ออาคารที่เช่าอยู่เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงาน ซึ่งเป็นอาคารของโรงพยาบาลลาดพร้าวที่ปล่อยให้เช่าในซอยลาดพร้าว 122 ซึ่งจะทำให้ AMARC มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง
https://youtu.be/glkef3BjpkA