นายสุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ (ASIMAR) เปิดเผยถึงแนวโน้มผลงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ มีทิศทางเติบโตดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากมูลค่างานคงค้างในมือ (Backlog) ที่มีราว 200 ล้านบาท และบริษัทยังมีศักยภาพเพียงพอจะสามารถรับงานซ่อมเรือและต่อเรือได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามในสัญญาจ้างติดตั้งโครงสร้างเหล็กสำหรับส่วนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นการรับงานเหมาช่วงจาก บริษัท ไชน่า สเตทคอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 35 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการประมาณ 9 เดือน คาดว่าจะสามารถเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/61 เป็นต้นไป ซึ่งสะท้อนแผนการรุกงานโครงสร้างเหล็กเพิ่มขึ้น ส่วนในด้านงานโครงการต่อเรือเฟอร์รี่ คาดว่าจะสามารถเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/61 เช่นกันโดยบริษัทยังเดินหน้าประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องอีก ทั้งงานภาคเอกชนที่บริษัทมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และรุกงานภาครัฐบาลมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตเรือซ่อม เพื่อเสริมศักยภาพอู่ซ่อมเรือที่จ.สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจากมองว่าธุรกิจซ่อมเรือปีนี้เริ่มฟื้นตัว จากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ลูกค้ามีงบประมาณซ่อมเรือเพิ่มขึ้น
นายสุรเดช กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการในส่วนของเรือซ่อม ทั้งปี 61 คาดว่าจะเติบโต 5-10% ตามเป้าหมาย แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ตาม เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องซ่อมเรือทุก ๆ 2 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี และจากความมั่นใจของลูกค้าในคุณภาพงานและการส่งมอบงานตรงเวลา ทำให้มีฐานลูกค้าประจำที่ส่งเรือมาซ่อมกับทางบริษัทอย่างต่อเนื่อง และลูกค้ารายใหม่ที่เข้ามาทดลองใช้บริการซ่อมเรือกับทางบริษัทกลายมาเป็นลูกค้าประจำเพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมธุรกิจในส่วนของเรือซ่อมปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น จากทิศทางอุตสาหกรรมต่อเรือ และซ่อมเรือที่เริ่มมีสัญญาณบวกตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน บริษัทมีโครงสร้างรายได้จาก 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจต่อเรือ ธุรกิจซ่อมเรือ และธุรกิจโครงสร้างเหล็ก สำหรับสัดส่วนรายได้จะเป็นธุรกิจซ่อมเรือเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าอยู่ในภาคเอกชนเกือบทั้งหมด และอยู่ระหว่างขยายฐานลูกค้ามายังกลุ่มราชการเพิ่ม โดยตั้งเป้าสัดส่วนงานราชการสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 15 - 20% จากปีก่อน 10%
"การต่อเรือส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าหน่วยงานราชการ ซึ่งมีการประมูลแข่งขันด้านราคาระหว่างอู่สูง และมีความต้องการเรือต่อใหม่จำกัดตามงบประมาณ ทำให้ประมาณการรายได้ส่วนนี้ในแต่ละปีขึ้นอยู่กับผลการประมูลงาน บริษัทจึงต้องหารายได้เพิ่มในส่วนของงานโครงสร้างเหล็ก ซึ่งบริษัทมีทักษะ ความเชี่ยวชาญและมีโอกาสในการรับงานเพิ่มขึ้น จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของรัฐบาล" นายสุรเดช กล่าว