บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) ปูทางเติบโตสู่ธุรกิจขั้นปลายของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มุ่งขยายฐานในตลาดโลก ด้วยการเปิดรับพันธมิตรทุกส่วนงาน ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพันธมิตรที่มีเทคโนโลยี หรือมีตลาดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเล็งหาโอกาสเข้าลงทุนในต่างประเทศในปีหน้า คาดรายได้และกำไรจากธุรกิจขั้นปลายจะเห็นได้ชัดในปี 54-55 หวังสร้างความมั่นคงทางธุรกิจในอนาคต
นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTCH ซึ่งดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ครบวงจรในเครือ ปตท. กล่าวว่า บริษัทกำลังก้าวเข้าสู่ตลาด Global ในธุรกิจปลายน้ำ(downstream)ที่ปีหน้าจะเริ่มเห็นชัดเจนจากโครงการโอลิโอเคมี เพราะการเติบโตธุรกิจต้นน้ำ(upstream)เป็นไปอย่างจำกัด ประกอบกับราคาสินค้าผันผวนตามตลาดโลก ขณะที่สินค้าปิโตรเคมีปลายน้ำราคาค่อนข้างทรงตัว ไม่หวือหวา
แต่การเติบโตเข้าสู่ธุรกิจขั้นปลาย จำป็นต้องสร้างพันธมิตร(Partner)ในทุกส่วน ทั้งความร่วมมือการพัฒนาวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด ด้านเทคโนโลยี
"การเติบโตใน upstream มี limit เราต้องมาขยายข้างล่าง คือ downstream แต่คุณก็ต้องมี Partner เราจะทำอยู่คนดียวไม่ได้ ทุกคนต้องเป็น Partner ร่วมกัน...ดังนั้นใน Global Business คงต้องหาวิธีเข้าไปเป็น Partner อาจจะเป็น Global Partner, Strategic Partner คือ อย่าไปเดี่ยว ไปหา Partner ที่เขามีตลาดอยู่แล้ว Partner ที่มีเทคโนโลยี"นายอดิเทพ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ มองว่า PTTCH มีจุดแข็งทั้งเรื่อง feed stock หรือผลิตภัณฑ์ที่มีเข้ามาต่อเนื่อง มีตลาดในประเทศ และมีก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักที่จะเป็นฐานในการหาพันธมิตรได้ง่ายขึ้น แต่การก้าวไปสู่ Global Market คนเดียว ทั้งเทคโนโลยี และการตลาดค่อนข้างซับซ้อน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีพันธมิตร ทั้งด้านวิชาการหรือด้านวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัย 10 แห่งเข้าร่วมสร้างงานวิจัยใหม่ให้กับบริษัท
"เราเปิดทางไว้หลายทาง อย่าไปล็อก ไม่จำเป็นต้องปิดตัวเอง เพราะใน Global Market ต้องมี Network ต้องมี business partners มากๆ
เราจะเป็น Good Partner, Best Partner ถ้าเราเป็น Core อยู่ตรงกลาง ข้างบนเป็นสถาบัน มหาวิทยาลัย ส่งเสริมทำวิจัยสินค้า ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกัน ส่วนข้างล่างเป็นลูกค้าธุรกิจที่บริษัทพร้อมสนับสนุนทำการค้า ฉะนั้น การทำงานในอนาคต ต้องการความร่วมมือทั้งหมด" นายอดิเทพอธิบาย
เหตุผลการกระจายตลาดไปต่างประทศ เพราะบริษัทไม่ต้องการอิงอยู่กับเฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น หากมัวแต่มุ่งตลาดในประเทศก็อาจมีความเสี่ยงจากความต้องการของตลาดเติบโตช้า รัฐบาลยังไม่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้บริษัทก็มองตัวเองว่าเป็น Regional player มากกว่า Domestic player ทำให้ไม่ต้องกังวลกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมากนัก เราก็มุ่งไป Global มากกว่า เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจด้วย
*คาดปี 54-55 สินค้าขั้นปลายดันกำไรโดดเด่น
นายอดิเทพ กล่าวว่า บริษัทจะลงทุนในธุรกิจขั้นปลายมากขึ้น เพราะอนาคตราคาสินค้าต้นน้ำจะหวือหวาขึ้นลงตามซัพพลาย แต่สินค้าขั้นปลายราคาไม่ผันผวนมาก จึงคาดว่าบริษัทจะมีผลิตภัณฑ์ขั้นปลายมากขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2554-2555(หรือปี ค.ศ.2011-2012) ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรดีขึ้น แต่อาจมีสัดส่วนรายได้จากสินค้าขั้นปลายไม่ถึง 50%
"ปีหน้าจะเริ่มจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างที่จะมีสินค้าขั้นปลาย แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่เห็นชัดเจนในปี 2011-2012 ซึ่งต้องมีการสร้างคน สร้างเทคโนโลยีรองรับ" นายอดิเทพ กล่าว
บริษัทมีงบลงทุนในช่วง 5 ปี(ปี 49-53)รวม 9.7 หมื่นล้านบาท โดยปี 51 มีงบลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 50 มีงบลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท และใช้ลงทุนจริงต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 5%
อย่างไรก็ดี การลงทุนผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำในต่างประเทศไม่ได้บรรจุในงบลงทุนช่วงดังกล่าว เนื่องจากบริษัทยังอยู่ระหว่างการรอจังหวะที่เหมาะสมในปี 51
"การลงทุนในต่างประเทศไม่จำเป็นต้องหลังปี 53 หรือสิ้นสุดงบ เราดูโอกาสถ้าทำได้เราไปเลย"นายอดิเทพ กล่าว
บริษัทยังมีความสามารถในการลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ปัจจุบันอยู่ที่ 0.2 เท่า ต่ำ จากปี 49 มี 0.5 เท่า แสดงว่ามีความสามารถกู้และกระแสเงินสดก็ยังมีอยู่พอสมควร อย่างไรก็ดีบริษัทตั้งเป้า D/E ที่ 0.5-1 เท่า
นายอดิเทพ กล่าวว่า บริษัทมองแนวทางการร่วมมือกับพันธมิตร เพราะไม่ต้องการลงทุนเองทั้งหมด ที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งงบทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 750 ล้านบาท แต่งบด้านความร่วมมือกับพันธมิตรยังไม่ได้ตั้งไว้ เพราะอาจมีการร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นตัวเงิน ยกเว้นการจัดตั้งโรงงาน
"เราไม่ลงทุนเองหมด คนที่จะเข้ามาเป็น strategic partner ต้องมี distribution เช่น เทคโนโลยี
ลงทุนเองก็มีความเสี่ยง โดยปกติน่าจะลงทุนร่วมกันมากกว่า การจะเข้าถือหุ้นแต่ละพันธมิตรขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ถ้าเขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ก็คงจะให้เขาถือหุ้นใหญ่" นายอดิเทพกล่าว
PTTCH เห็นว่า ในอนาคตแถบตะวันออกกลางจะมีอิทธิพลมากในการขยายตลาดธุรกิจปิโตรเคมี เพราะฉะนั้นบริษัทต้องขยายไปในสินค้าขั้นปลายเพิ่มขึ้น หรือลงไปเจาะในตลาดที่เป็นลักษณะพิเศษ โดยบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาผลิตสินค้าใหม่ คาดว่าจะออกในปีหน้า
ปัจจุบัน บริษัทผลิตเม็ดพลาสติกโพลีนเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง(HDPE) มีตลาดในประเทศ และต่างประเทศสัดส่วน 50:50 ส่วนโมโนเอทิลีนไกลคอล(MEG)ส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ 80% ที่เหลือ 20% ไปต่างประทศ ทั้งนี้ คาดว่าตลาดในปี 51 สัดส่วนก็ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่
นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ปี 52 โครงการอีเทนแครกเกอร์จะเริ่มผลิตเอทิลีน ป้อนให้กับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำ(LDPE) เพื่อผลิตเม็ดพลาสติก LDPE ประมาณ 3 แสนตันต่อปี และผลิตเม็ดพลาสติก LLDPE อีก 4 แสนตันต่อปี
นายอดิเทพ ยังคาดว่า สเปรดมาร์จิ้นในไตรมาส 4/50 ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/50 เพราะราคาผลิตภัณฑ์ยังสูงอยู่ และแนวโน้มปีหน้า ราคา MEG ยังอยู่ในระดับสูง เพราะปริมาณความต้องการและการผลิตใกล้เคียงกัน ซึ่งคาดว่าสเปรดมาร์จิ้น 700-800 เหรียญ ใกล้เคียงกับปี 50
"ตลาดโลกรวมยังไม่น่ากังวล เพราะตลาดยังมีความต้องการสูง และ ซัพพลายในตลาดยังมีความแน่นอนสูง อย่างไรก็ตามเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม การบริหารแบบใหม่ ใช้ Supply Chain และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน" นายอดิเทพกล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/50 ส่วนต่างราคา HDPE และ แนฟทา ปรับตัวดีขึ้นจาก 627 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ในไตรมาส 2/50 เป็น 718 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้น 15%
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/นิศารัตน์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--