บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของบมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมน้ำตาล และความพยายามในการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และกัมพูชา
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความแข็งแกร่งในการแข่งขันทางธุรกิจ
บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันจากประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมน้ำตาล บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของผลผลิตน้ำตาลใหญ่เป็นอันดับที่ 3 โดยมีผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 7%-8% กลุ่มผู้บริหารของบริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจน้ำตาลมายาวนานมากกว่า 70 ปี ลูกค้าหลักของบริษัทคือกลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ความใส่ใจเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของบริการและคุณภาพของสินค้า เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการเฉพาะ ดังนั้น บริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาสูงได้ตามคุณภาพของสินค้าที่ผลิต
ราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงและภาวะภัยแล้งทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานหดตัว
ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นในปีการเงิน 2560 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็น 7.2% ในปีการเงิน 2560 จากระดับประมาณ 14% ในปีการเงิน 2558-2559 ภาวะภัยแล้งส่งผลทำให้ปริมาณอ้อยของบริษัทลดลงและต้นทุนค่าอ้อยปรับตัวสูงขึ้น ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในประเทศไทย ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบของบริษัทลดลงเป็น 6.83 ล้านตัน ในฤดูการผลิต 2559/2560 ลดลงจาก 7.61 ล้านตัน ในฤดูการผลิต 2558/2559
กำไรของบริษัทในธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวลดลงเช่นกันในปีการเงิน 2560 อัตราค่ารับซื้อไฟฟ้า (Tariff) รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่ปรับตัวลดลงก็ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2560 อ่อนตัวลงด้วยเช่นกัน โดยภาพรวมแล้ว อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 27.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2561 จาก 24.1% ในช่วงเดียวกันของปีการเงิน 2560 ต้นทุนการผลิตในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2561 ปรับตัวลดลง เนื่องจากบริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นและเครื่องจักรของโรงงานน้ำตาลมีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น
ในปีการเงิน 2561 และ 2562 การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลก ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยด้านลบต่อราคาน้ำตาลทั่วโลก ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ 12% ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรจะเกิดขึ้นหลังจากที่ราคาน้ำตาลระดับต่ำกดดันทำให้ปริมาณและการผลิตน้ำตาลปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทควรปรับตัวมาอยู่ที่ 13% ในปีการเงิน 2562-2564
สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานลดลง
ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงาน (เอทานอลและไฟฟ้า) จะลดลงในช่วงปีการเงิน 2561-2564 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานในปีการเงิน 2561 จะอยู่ที่ 10% ลดลงจากปีการเงิน 2556-2560 ที่ประมาณ 20% โดยสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนการรับรู้รายได้ของ บริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น (KGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ในฐานะผู้ผลิตเอทานอล KGI ประสบความสำเร็จในการควบรวมกิจการกับบริษัทย่อยของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) ในเดือนตุลาคม 2560 ดังนั้นบริษัทต้องเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ของ KGI จากงบการเงินรวมมาเป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียตั้งแต่ปีการเงิน 2561 เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงทางบัญชีหมายความว่ารายได้จากธุรกิจเอทานอลที่อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปีจะไม่นำมารวมกับรายได้รวมของบริษัท ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง เราคาดว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทที่ควบรวมกิจการประมาณ 100-120 ล้านบาทต่อปี
ภาระหนี้ปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วงปีการเงิน 2561-2564 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวลดลง อยู่ที่ระหว่าง 47%-53% ในช่วงปีการเงิน 2561-2564 ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 400-1,200 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2561-2564 เปรียบเทียบกับ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2559-2560 บริษัทวางแผนจะใช้เงินในปีการเงิน 2561 ประมาณ 800 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังการหีบอ้อยที่จังหวัดเลย และใช้เงินอีกประมาณ 400 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาประจำปี
ทริสเรทติ้งเห็นว่าเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัท ซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ที่ 7.4%-11.8% ในปีการเงิน 2561-2564 เงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำตาล เมื่อราคาน้ำตาลฟื้นตัวจะส่งผลทำให้ EBITDA ต่อดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับประมาณ 3-5 เท่า ในปีการเงิน 2561-2564
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เราคาดหวังว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงเพียงพอ ภายใต้สมมติฐานคาดว่า EBITDA จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,500-2,900 ล้านบาท ในปีการเงิน 2561-2564 ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำตาล นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะจ่ายเงินบริษัทประมาณ 300-350 ล้านบาทต่อปี เพื่อเป็นค่าตอบแทนการผลิตน้ำตาลจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ณ เดือนเมษายน 2561 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเท่ากับ 210 ล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ 18,261 ล้านบาท บริษัทมีภาระหนี้ที่ครบกำหนดชำระอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2561-2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลเอาไว้ได้ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยและรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยลดความผันผวนในธุรกิจผลิตน้ำตาลได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังจำกัดในระยะสั้นตราบที่ราคาน้ำตาลทรายยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรและสร้างผลตอบแทนลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิต เนื่องจากราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำจะกดดันทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลง การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน