นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (กองทุน TFFIF) เป็นไปตามการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางการระดมทุนในตลาดทุน เพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนาดใหญ่ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบหลักการจัดตั้งกองทุน TFFIF ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ทั้งนี้ หลักการจัดตั้งกองทุน TFFIF นั้นเพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว จัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เป็นช่องทางให้นักลงทุนและผู้มีเงินออมสามารถลงทุนในทรัพย์สินของรัฐที่มีคุณภาพและสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ โดยการระดมทุนด้วยการจัดตั้งกองทุน TFFIF มีข้อดีในการลดภาระในการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐที่ผ่านมานั้นจะเกิดจากการกู้ยืมเงินเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านการลงทุนจากเพดานหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 41% ต่อจีดีพี แม้ว่าระดับเพดานหนี้สาธารณะดังกล่าวยังต่ำกว่านโยบายทางการคลังเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ที่กำหนดให้หนี้สาธารณะของไทยไม่ควรเกิน 60% ต่อจีดีพี แต่ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกหลายส่วน อาทิ การรักษาพยาบาล การศึกษา ฯลฯ การจัดตั้งกองทุน TFFIF จึงช่วยสนับสนุนการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประเทศ
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บล.ภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า กองทุน TFFIF นั้น จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนในวงกว้าง และนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหน่วยลงทุน ไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนเพื่อเป็นรายได้ของกองทุน และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กองทุนสามารถจ่ายผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ และไม่มีการกำหนดอายุกองทุน โดยกองทุน TFFIF มีนโยบายที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในกรณีที่กองทุนมีกำไรสะสมเพียงพอ และโดยรวมแล้วในแต่ละรอบบัญชี จะจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว
ส่วนทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุน TFFIF จะลงทุนครั้งแรก ได้แก่ การลงทุนในสิทธิในรายได้ร้อยละ 45 ของค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากเส้นทางปัจจุบันของทางพิเศษ 2 สาย เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังคงเป็นผู้บริหารจัดการตามปกติ ได้แก่ 1. ทางพิเศษฉลองรัช ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออกบริเวณจตุโชติ เข้ากับทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณอาจณรงค์และทางพิเศษบางนา – อาจณรงค์ และ 2. ทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทาง 55 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในทางยกระดับที่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย และมีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณบางนาไปทางทิศตะวันออก ข้ามแม่น้ำบางปะกง สิ้นสุดที่จังหวัดชลบุรี
นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า สำหรับผลการดำเนินงานของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ที่กองทุน TFFIF เข้าลงทุนในรายได้ครั้งแรก มีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ย 369,464 คันต่อวัน สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และ 386,891 คันต่อวันสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยรายได้ค่าผ่านทางพิเศษที่กองทุนเข้าลงทุนในรายได้ครั้งแรก คิดเป็น 4,672 ล้านบาท สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และ 2,045 ล้านบาท สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561
ขณะที่ความคืบหน้าการนำกองทุน TFFIF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติและร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการเพิ่มทุนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นอกจากนี้กองทุน TFFIF มีแผนที่จะให้ข้อมูลกับนักลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากกองทุน TFFIF โดยการจัดสรรหน่วยลงทุนในส่วนของผู้ลงทุนทั่วไปนั้น จะดำเนินการในรูปแบบ Small Lot First เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับสิทธิในการจองซื้อหน่วยลงทุนอย่างทั่วถึง