นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) โดยมีนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ และนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ ร่วมหารือว่า ได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาในการดำเนินการ ภายใต้กลุ่มธุรกิจ"ไทย กรุ๊ป" คือ การบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์ ทั้งเรื่องของการเพิ่มทุน บนพื้นฐานของเหตุและผล ซึ่งฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
พร้อมฝากดูแลการบริหารจัดการราคาน้ำมันที่ขณะนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70 กว่าเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม และเป็นสถานการณ์โลกที่ทุกคนเจอ เช่นเดียวกับธุรกิจพลังงานที่มีวิธีการบริหารจัดการ การประกันความเสี่ยงราคา มีเครื่องมือทางการเงิน ส่วนการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างที่บมจ.ปตท. (PTT) เคยจัดการปัญหา คือจะมีศูนย์การเงินที่ประเทศสิงคโปร์ คอยบริหารจัดการ
แม้ว่าที่ผ่านมา บริษัทฯยังประสบกับการขาดทุน จากภาวะอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีหนี้และรายได้หลายสกุล รวมถึงราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น แต่หากใช้ความพยายามมากกว่าเดิม จะพลิกฟื้นธุรกิจได้ พร้อมระบุว่า นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มีประสบการณ์บริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ น่าจะนำพาการบินไทยให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ไม่ยาก
สำหรับการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 23 ลำ วงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น ได้เร่งให้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อจัดหาโดยเร็ว เนื่องจากถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการหารายได้
"ถือเป็นการให้นโยบายครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งขณะนี้การบินไทยมีประธานบอร์ดและดีดีคนใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงที่พร้อมสำหรับขับเคลื่อนให้บริษัทฯเดินหน้าดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ที่เสนอไว้กับ คนร. เพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีได้"
รมช.คมนาคม กล่าวถึงสถานการณ์พายุและแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญของการบินไทย อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบ้าง แต่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นฟูและกลับมาเป็นปกติในเวลาอันสั้น โดยในส่วนของสนามบินคันไซ อาจจะวิกฤติมากเนื่องจากสะพานที่เชื่อมเข้าสนามบินชำรุด การฟื้นฟูจะใช้เวลาหลายวัน ส่วนที่ฮอกไกโดจะใช้เวลาสั้นกว่า ซึ่งเที่ยวบินอาจจะปรับไปใช้ที่นาโกย่าและสนามบินอื่นๆ ของญี่ปุ่นแทน
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) THAI เปิดดเผยภายหลังรับนโยบายจากนายไพรินทร์ว่า รมช.คมนาคม ได้ให้คำแนะนำในเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งในธุรกิจการบินนั้นเครื่องบินมีความสำคัญมากกว่าอาคารสำนักงาน ขณะที่การบินไทยมีเส้นทางการบินที่ดี ถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่ต้องรักษาไว้ นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรเป็นทรัพยากรที่ดี มีความชำนาญในธุรกิจการบิน อีกด้วย
ปัญหาของการบินไทยคือได้รับผลกระทบจากตลาดการบินที่เปลี่ยนแปลง มีเรื่องเปิดเสรีน่านฟ้า และสายการบินโลว์คอสต์ ทำให้กระทบต่อธุรกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้บริษัทต้องปรับตัว ซึ่งยืนยันว่าแผนฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจาก คนร.เป็นแนวทางที่ดี มีเป้าหมายที่พลิกฟื้นบริษัทให้มีกำไร ดังนั้น บริษัทก็จะทำตามแผนให้บรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ จะจัดหาทีมผู้ช่วยมาบริหารจัดการด้านการเงินของบริษัทจะดูรายละเอียดของบัญชีในนทุกจุดทุกเรื่อง เพื่อให้เห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหนบ้าง ยอมรับว่าต้นทุนบางตัวยังสูง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังบริหารได้ไม่ดี โดย มีต้นทุนน้ำมันประมาณ 30% ของรายได้ ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ทุกสายการบินกระทบเหมือนกัน ดังนั้น การปรับปรับค่าธรรมเนียม น้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) ส่ เพื่อชดเชยต้นทุนน้ำมันนั้น ไม่ใช่การบินไทยทำเพียงรายเดียว ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการค้าขายและหนี้ในเงินตราหลายสกุลนั้น ตรงนี้ต้องหาวิธีบริหารจัดการเช่นกัน
ส่วนอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) ที่เป็นตัววัดด้านการตลาด ที่ผ่านมาถือว่าเติบโตตามเป้าหมาย แสดงว่าการทำตลาดไม่ใช่ปัญหา ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อหน่วย (Yield) อาจจะยังต่ำกว่าคู่แข่งเล็กน้อย ซึ่งเป็นเพราะว่าต้นทุนบางตัวยังสูง แต่ไม่ได้ถือว่า แย่มาก
"การแข่งขันในปัจจุบันที่เต็มรูปแบบนั้น ต้องมีประสิทธิภาพและมีเครื่องมือ ที่เพียงพอจึงจะต่อสู้ได้ ซึ่งการบินไทยมีพื้นฐานที่ดี หากสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ก็จะไปต่อได้ ผมมั่นใจการบินไทยยังอยู่ในสถานะที่แข่งขันได้ และมีเป้าหมายให้ผลประกอบการจะออกมาดีจนพนักงานมีโบนัส และเชื่อว่าพนักงานอยากให้บริษัทอยู่รอด ซึ่งพนักงานจะต้องให้ความร่วมมือกันในการพลิกฟื้นบริษัทด้วย"
นายสุเมธ กล่าวถึงกรณีย้ายไปใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิว่า ได้นัดหารือกับนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เร็วๆนี้ ซึ่งจะต้องหารือรายละเอียด เหตุผลต่างๆ โดยมุ่งที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเรามองว่า ทอท.เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวในการทำงานร่วมกัน เพราะอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมเหมือนกัน