(เพิ่มเติม) SUPER เตรียมยื่นไฟลิ่งจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานใน ก.ย.นี้,เจรจาซื้อกิจการ-ร่วมทุนโซลาร์ฟาร์มทั้งใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 10, 2018 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) ว่า จะยื่นไฟลิ่งในการจัดตั้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 90-120 วันตามกระบวนการเพื่อตรวจสอบรายละเอียดก่อนจำหน่ายหน่วยลงทุน

ล่าสุดคณะกรรมการได้อนุมัติให้บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด (17AYH) และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (HPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUPER ทำรายการจำหน่ายสินทรัพย์ในโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 118 เมกะวัตต์ ให้กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราฟันด์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาขนาดธุรกรรมการโอนสิทธิรายได้สุทธิ โดยวิธีเปรียบเทียบมูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน ธุรกรรมการโอนสิทธิรายได้สุทธิ มีขนาดรายการไม่เกิน 9,000 ล้านบาท รวมทั้งคณะกรรมการได้อนุมัติให้บริษัทฯทำธุรกรรมซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ในสัดส่วน 33%

"ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของธนาคารกรุงเทพเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากการขายสินทรัพย์เข้ากองราว 9 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้เข้ามาในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/62 ถึงต้นไตรมาสที่ 2/62"นายจอมทรัพย์ กล่าว

สำหรับแผนการใช้เงินที่ระดมทุนได้ในครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ราว 4 พันล้านบาท และนำเงินไปลงทุนในกองทุนฯ ราว 1 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 4 พันล้านบาทจะนำไปลงทุนในโรงไฟฟ้าเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต โดยเน้นการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์,โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าขยะ

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 61 คาดว่าจะเติบโตแข็งแกร่ง เนื่องจากเข้าสู่ช่วง High Season ของธุรกิจ อีกทั้งยังมีการขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่ม จากโครงการโรงไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงทดแทนจากสิ่งปฏิกูลที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ของบริษัท กรีน เพาเวอร์ เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก SUPER มีกำลังการผลิตเสนอขายรวม 9.9 เมกะวัตต์ที่เริ่มขายไฟแล้วตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าสหกรณ์การเกษตร เฟส 2 ขนาดกำลังการผลิต 28 เมกะวัตต์ ในช่วงไตรมาส 4/61 ผลักดันให้รายได้ และกำไรในปีนี้เติบโตตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

"เรายังเชื่อมั่นว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ดีของ SUPER และสามารถสร้างรายได้เติบโตก้าวกระโดด จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นช่วงปลายปีนี้ และจะรับรู้รายเต็มปีในปีหน้า ซึ่งจะผลักดันให้กระแสเงินสดมีความแข็งแกร่ง พร้อมที่จะขยายการลงทุนโครงการใหญ่ต่างๆ ตามแผนงานที่วางไว้ และอยากให้มองว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่เรา จะมีส่วนแบ่งรายได้จากโรงไฟฟ้าขยะประมาณสัดส่วน 4- 5% นอกจากโซลาร์เซลล์อย่างเดียว และจะพยายามเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น เพราะสร้างมาร์จินระดับสูง ปัจจุบัน SUPER อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จ.พิจิตร กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตอย่างมีนัยยะในอนาคต " นายจอมทรัพย์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมความพร้อมการซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ (SPP Hybrid Firm ) อีกจำนวน 30 เมกะวัตต์ รวมถึงแผนการขายไฟไฟฟ้าโดยตรงให้กับลูกค้าในลักษณะ Private PPA ก็น่าจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้เช่นกัน ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้ บริษัทจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ของปีนี้

"บริษัทวางแผนระยะยาว 4 ปี หรือ ปี 61-64 ที่รายได้จะโต 100% จากปี 60 หรือ เฉลี่ยปีละ 25% ปี 61 มี operation ไม่ต่างจากปีก่อน แต่มีรายได้จากโรงไฟฟ้าขยะเข้าไตรมาส 3-4 เชื่อว่ารายได้จะดีกว่าปีก่อน"นายจอมทรัพย์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าสิ้นปี 61 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมืออยู่ที่ระดับราว 1.3 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันมี 800 เมกะวัตต์ โดยจะมีการรับรู้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนามขนาดกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างเพื่อเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าราว 2-2.5 ปี และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศขนาดกำลังการผลิตรวม 200 เมกะวัตต์

นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการและร่วมทุนระหว่างพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เบื้องต้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายเล็กขนาดราวโครงการละ 5-30 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างเจรจาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน โดยตั้งเป้าผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ในแต่ละโครงการ 12-13% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคำนวนต้นทุนและผลตอบแทนเพื่อสรุปราคาสำหรับการลงทุน

ปัจจุบันบริษัทมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง โดยแหล่งเงินทุนคาดว่ามาจากกระแสเงินสดที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 6 พันล้านบาท และมีกำไรก่อนหักภาษี, ดอกเบี้ยจ่าย และ ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) อีกทั้งมีสัญญาขายไฟฟ้าเหลือเฉลี่ย 23 ปี ประกอบกับมีกองทุน IFF ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการลงทุนในอนาคตด้วย

นายจอมทรัพย์ ยังเปิดเผยว่า มีแผนจะซื้อหุ้น SUPER เพิ่ม โดยจะเป็นการซื้อในนามส่วนตัวจากปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้นของตนเองและครอบครัวทั้งหมดรวมราว 40-41% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมเงินทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ